ลาออกจากงานประจำ เรียกว่าเหล่ามนุษย์เงินเดือนทั้งหลายต่างเคยผ่านการลาออกมาบ้างแล้วไม่มากก็น้อย แต่ทว่าที่เราจะพูดถึงกันในบทความนี้คือการลาออกจากงานประจำ โดยที่ไม่กลับไปเป็นมนุษย์เงินเดือนอีกต่อไป เพื่อที่จะไปประกอบอาชีพอื่นที่ไม่ใช่งานประจำ อย่างเช่นธุรกิจส่วนตัว ฟรีแลนซ์ หรือ Digital Nomad ก็ตาม ซึ่งนับว่าเติบโตขึ้นมากในปัจจุบัน
ต้องบอกว่าคอนเทนต์นี้เขียนจากประสบการณ์จริงของตัวเอง ที่เพิ่งจะผ่านไปเมื่อไม่นาน และหวังว่าจะเป็นการลาออกครั้งสุดท้าย เพราะเราจะเริ่มธุรกิจส่วนตัวแบบเต็มตัว จึงทำให้ต้องวางแผนในหลาย ๆ ด้าน เพื่อเตรียมพร้อมกับการลาออกจากงานประจำ เพื่อผันตัวไปเป็นฟรีแลนซ์หรือว่าเจ้าของธุรกิจ
ลาออกจากงานประจำ มาเป็นฟรีแลนซ์ ทำธุรกิจส่วนตัว เตรียมตัวอะไรบ้าง
- จัดการสิทธิประโยชน์ที่ได้จากการทำงานประจำ อย่างประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ PVD
- ลาออกจากงานประจำ ต้องวางแผนทางการเงินล่วงหน้า เพราะการเป็นฟรีแลนซ์ และทำธุรกิจส่วนตัวไม่ง่าย
- จากนี้ไปไม่มีหัวหน้า มีแต่ลูกค้า เลือกเวลาทำงานได้ และยังมีเดดไลน์เสมอ
- ระบบ และ Cashflow คือหัวใจสำคัญของการเป็นฟรีแลนซ์และเริ่มทำธุรกิจเบื้องต้น
- สรุป ลาออกจากงานประจำ เพื่อมาเป็นเจ้าของธุรกิจ ฟรีแลนซ์ Digital Nomad ต้องเตรียมตัวแค่ไหน
จัดการสิทธิประโยชน์ที่ได้จากการทำงานประจำ อย่างประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ PVD

เป็นสิ่งแรก ๆ ที่ควรจะต้องทำก่อน ลาออกจากงานประจำ คือวางแผนว่าเราจะทำอย่างไรกับสิทธิประโยชน์ที่ได้จากการทำงานประจำ ไม่ว่าจะเป็นประกันสังคม หรือว่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เช่นประกันสังคม ปกติเมื่อเราทำงานประจำจะเป็น ม.33 ซึ่งได้สิทธิประโยชน์ได้อย่างเต็มรูปแบบ แต่ว่าเมื่อลาออกจากงานมาแล้วแนะนำเลยว่าให้ส่งต่อเป็นประกันสังคม ม.39 แทน สำหรับคนที่เป็นมนุษย์เงินเดือนและลาออกมาไม่เกิน 6 เดือน โดยจ่ายเงินเดือนละ 432 บาท เพื่อคงสิทธิประโยชน์ตรงนี้ไว้ เพราะราคาไม่แพงเลย แต่ยังได้สิทธิประโยชน์คล้ายกับ ม.33 (ต่างที่ ม.39 จะไม่ได้สิทธิประโยชน์ด้านการว่างงาน)
ส่วนใครที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ PVD แล้วลาออกก็จะมี 3 หนทาง ง่าย ๆ คือ อย่างแรกรับผลประโยชน์จากเงินทุนทั้งก้อน หรือที่เรียกกันว่าการลาออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แต่วิธีนี้บอกเลยว่าไม่แนะนำเป็นอย่างยิ่ง เพราะเงินก้อนนี้จะเป็นเงินไว้ใช้ตอนเกษียณ ถ้าเอาเงินออกมาตอนนี้บอกเลยว่าหมดแน่นอน ส่วนแบบที่ 2 คือเก็บเอาไว้ที่เดิม แต่แบบนี้ก็จะไม่ได้เงินสมทบจากนายจ้างอีกต่อไป เอาออกมาอีกทีตอนเกษียณ หรือว่าสุดท้ายคือการย้ายไปกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ RMF ก็ยังสามารถนำไปลงทุนได้ต่อ จุดประสงค์เดียวกัน เมื่อเราซื้อเพิ่มก็สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้เช่นกัน
ลาออกจากงานประจำ ต้องวางแผนทางการเงินล่วงหน้า เพราะการเป็นฟรีแลนซ์ และทำธุรกิจส่วนตัวไม่ง่าย
การจัดการเรื่องเงินนับว่าเป็นหัวใจหลักทางด้านการเงินของการเป็นฟรีแลนซ์เลยก็ว่าได้ เพราะงานของฟรีแลนซ์บทจะมาก็มา ได้เยอะมาก ๆ เลยในเดือนเดียว บทจะหายก็หาย อาจจะไม่มีรายได้เลยในเดือนนั้น เพราะฉะนั้นแล้วควรทำรายรับรายจ่ายทั้งหมด ว่ามีรายได้เท่าไรต่อเดือนโดยเฉลี่ย และมีรายจ่ายต่อเดือนเท่าไรโดยเฉลี่ย มองภาพรวมและทำรายรับรายจ่ายล่วงหน้าอย่างน้อย 6 เดือน เพื่อที่เราจะได้
ส่วนก่อนที่จะ ลาออกจากงานประจำ จำเป็นมากที่ควรจะมีเงินออมไว้ล่วงหน้า เผื่อตอนที่ไม่มีงาน หรือเงินออมสำหรับธุรกิจ เพื่อไว้ใช้จ่ายให้เหมาะกับจุดประสงค์นั้น ๆ อีกอย่างหนึ่งคือควรแบ่งเงินให้ชัดเจนว่าอันไหนเป็นการกินใช้ส่วนตัว อันไหนเป็นเรื่องงาน หลายคนเอาเงินมาผสมรวมกัน ทำให้ใช้เงินเกินตัว หรือเอาเงินในธุรกิจมาใช้ส่วนตัว ทำให้ธุรกิจสั่นคลอนได้
จากนี้ไปไม่มีหัวหน้า มีแต่ลูกค้า เลือกเวลาทำงานได้ และยังมีเดดไลน์เสมอ

หลายคนที่ ลาออกจากงานประจำ มาอาจจะไม่ชอบสภาพแวดล้อมในการทำงาน ไม่ชอบหัวหน้า ซึ่งการทำงานประจำเป็นไปได้ยากมากที่จะไม่มีหัวหน้าเลย แต่พอมาเป็นฟรีแลนซ์ หรือเจ้าของธุรกิจเอง แน่นอนว่าไม่มีหัวหน้าอีกต่อไป คนที่เป็นหัวหน้าคือตัวเราเอง แต่สิ่งที่ยังคงต้องฟังและบริการให้ดีนั่นก็ยังเหมือนเดิม นั่นคือลูกค้า เพราะว่าลูกค้าเป็นคนที่ซื้อสินค้าหรือจ้างงานบริการของเรา จึงสำคัญมากที่จะต้องดูแลลูกค้าและทำงานออกมาให้ดี เพื่อรักษาลูกค้าเก่าไว้ และอย่าลืมหาลูกค้าใหม่ เพื่อเพิ่มรายได้ให้มากขึ้น แต่ข้อดีอีกอย่างคือเราสามารถเลือกลูกค้าได้เองด้วย จะไม่เหมือนกับตอนทำงานประจำโอกาสน้อยมากที่เราจะเลือกลูกค้าหรือโปรเจ็คงานได้
ต่อมาถึงแม้ว่างานประจำหลายที่จะทำงานแบบยืดหยุ่นมากขึ้น หรือทำงานแบบไฮบริดได้ก็ตาม แต่ไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่าหลังโควิดเมื่อทุกอย่างกลับมาเป็นเกือบปกติ การทำงานแบบ เข้าเก้าโมงเช้าเลิกงานห้าโมงเย็นก็ยังมีหลายที่เช่นกัน พอได้ทำธุรกิจส่วนตัวหรือฟรีแลนซ์ เท่ากับว่าคุณเลือกเวลาทำงานได้เอง แต่ว่าก็ต้องมีวินัยมาก ๆ เช่นกัน เพราะว่าสิ่งหนึ่งที่เหลืออยู่นั่นก็คือเดดไลน์ กำหนดส่งงานยังคงมีเสมอ เพราะถ้าเราส่งงานช้า หรือขาดคุณภาพ แน่นอนว่าลูกค้าก็คงไม่พอใจเหมือนกัน
ระบบ และ Cashflow คือหัวใจสำคัญของการเป็นฟรีแลนซ์และเริ่มทำธุรกิจเบื้องต้น
พนักงานประจำมีความแน่นอนตรงที่ว่า อย่างน้อยทุก ๆ สิ้นเดือน ก็จะมีเงินเข้าบัญชี ทำให้มี Cashflow สม่ำเสมอ บริหารจัดการง่าย แต่ต่างกันโดยสิ้นเชิงมาก ๆ เมื่อมาเป็นฟรีแลนซ์ หลังจาก ลาออกจากงานประจำ ว่าทำงานแล้วจะได้เงินเมื่อไร ลูกค้าเจ้านี้ต้องมีการวางบิลล่วงหน้านานแค่ไหน หัวใจสำคัญนั่นคือสภาพคล่องของการเงิน เพราะถ้าเรามีสภาพคล่องทางด้านการเงิน ก็จะทำให้ธุรกิจ รวมถึงตัวเราดำเนินต่อไปได้ ลูกค้าเจ้าไหนมีการให้เครดิตนาน ก็ต้องบริหารหรือคุยกันให้ดีว่าจ่ายเร็วกว่านี้ได้ไหม ถ้าลองแล้วเครดิตยาวนานเกินไป มีลูกค้าใหม่ให้ปรับเครดิตให้สั้นลง เพราะการทำกับลูกค้าใหม่ง่ายกว่าลูกค้าเก่าเสมอ แต่ถ้าเป้นลูกค้าที่ทำกันมานานของแบบนี้ก็คุยกันได้
สรุป ลาออกจากงานประจำ เพื่อมาเป็นเจ้าของธุรกิจ ฟรีแลนซ์ Digital Nomad ต้องเตรียมตัวแค่ไหน
การลาออกจากงานประจำ โดยย้ายออกไปทำงานที่อื่นอาจจะไม่ใช่เรื่องยาก แต่การลาออกจากงานประจำเพื่อมาทำธุรกิจส่วนตัว ฟรีแลนซ์ หรือ Digital Nomad นับว่าเป็นคนละเรื่องเลยทีเดียว เพราะต้องทำหลายอย่าง โดยเฉพาะในช่วงแรก จะเหนื่อยมาก ๆ ต้องใช้ทั้งความพยายาม รวมถึงเรื่องเงิน การหาลูกค้าต่าง ๆ เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่กำลังจะลาออกจากงานประจำเพื่อมาเริ่มธุรกิจของตัวเอง
ใครที่มีคำถามเกี่ยวกับ Digital Marketing หรือเกี่ยวกับเรื่องอื่น ๆ สามารถ Inbox สอบถามได้ที่ Facebook ของ Digital Break Time คำถามเด็ด ๆ ที่คิดว่ามีประโยชน์จะนำมาเขียนบอกเล่าให้กับคนอื่น ๆ ได้รู้ด้วย
ติดตามเรื่องราว Digital Marketing จาก Digital Break Time ได้ที่
Facebook, Twitter, Line Official Account, Instagram, Spotify, YouTube, Apple Podcast
ธนาคาร เลิศสุดวิชัย x Digital Break Time