Lazada Ads เปรียบเทียบ Search, Discovery และ Auto Campaign สำหรับการโฆษณาใน Lazada จะมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า Sponsored Discovery (ในที่นี้จะเรียกว่า Lazada Ads) ซึ่งเป็นวิธีการโฆษณาเป็นที่นิยมมาก เนื่องจากสามารถสร้างยอดขายได้จริง ช่วยกระจายให้สินค้าของเราไปแสดงตามจุดต่าง ๆ ของ Lazada ได้สูงขึ้น
ซึ่งทาง Digital Break Time เคยมาแนะนำรูปแบบโฆษณาบางชนิดแบบเกริ่นไว้แล้ว บทความนี้เลยจะมาแนะนำแบบเต็ม ๆ ชำแหละให้ละเอียดไปเลยว่ามีโฆษณากี่แบบ และประเภทไหนเหมาะกับใครและอย่างไร
Lazada Ads เปรียบเทียบ Search, Discovery, All และ Auto Campaign
- เรามาทำความรู้จักแบบคร่าว ๆ ก่อนว่า Lazada Ads จะสามารถทำโฆษณาประเภทใดได้บ้าง
- 1.Sponsored Search (Search) เน้นแสดงผลลัพธ์เมื่อเกิดการค้นหา
- 2. Sponsored Product (Discovery) แสดงในหน้า Home และสินค้าแนะนำ
- 3. All (Sponsored Search + Sponsored Product)
- 4. Automated Campaign ไปทุกที่ และเลือกสินค้าให้อัตโนมัติ
- สรุป Lazada Ads เปรียบเทียบ Search, Discovery และ Auto Campaign เลือกแบบไหนดี
เรามาทำความรู้จักแบบคร่าว ๆ ก่อนว่า Lazada Ads จะสามารถทำโฆษณาประเภทใดได้บ้าง
- Sponsored Search (Search)
เน้นแสดงผลลัพธ์เมื่อเกิดการค้นหาเป็นหลัก ก็จะตอบโจทย์เรื่องของการค้นหาได้ดี
- Sponsored Product (Discovery)
เน้นแสดงสินค้าในหน้า Home และหน้าสินค้าแนะนำ เรียกได้ว่าไปเสิร์ฟโฆษณาถึงที่ทันใจ ไม่ต้องค้นหา
- All (Sponsored Search + Sponsored Product)
โฆษณาไปเลยทั้ง 2 ที่ ทั้ง Search และ Discovery
- Automated Campaign
พิเศษตรงที่เราไม่ต้องเลือกสินค้าเลย เพราะจะนำสินค้าทุกชนิดในร้านค้ามาโปรโมตให้และผสมรวมกันทั้ง Search และ Discovery
1.Sponsored Search (Search) เน้นแสดงผลลัพธ์เมื่อเกิดการค้นหา

โฆษณาประเภท Search ของ Lazada Ads นั้น ก็จะแสดงเมื่อเกิดการค้นหาตามคีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้อง โดยเราสามารถเลือกคีย์เวิร์ดเองได้ หรือจะให้ระบบเลือกคีย์เวิร์ดให้ก็ได้ และเรากำหนดราคา Bidding เองได้ด้วย ซึ่งแนะนำว่าการเลือกคีย์เวิร์ด แนะนำให้ใส่คำที่กว้าง ๆ ไว้ก่อนจะดีกว่า เพราะอย่าลืมว่านี่คือ Lazada ไม่ใช่ Google Search เพราะถึงแม้จะเป็นคำที่กว้างพอสมควร แต่ Search Volume บน Lazada ต้องน้อยกว่า Google Search เนื่องจากฐานผู้ใช้งานต่างกัน อีกทั้งเมื่อเราใช้คีย์เวิร์ดคำกว้าง (Short Tail Keyword) ก็จะได้ลูกค้าที่ได้คำค้นหาด้วยคำแคบ (Long Tail Keywords) มาด้วย หรือถ้าไม่ถนัดก็ให้ระบบเลือกคีย์เวิร์ดแบบอัตโนมัติให้เลย ซึ่งก็ใช้งานได้ดีไม่แพ้กัน
จุดเด่น Sponsored Search (Search)
จุดเด่นที่สุดคือตอบโจทย์มาก ๆ เป็นระบบการโฆษณาที่ตรงใจ เพราะเมื่อเราค้นหาด้วยคีย์เวิร์ด แสดงว่าสนใจสินค้านั้น ๆ ที่เกี่ยวข้องอยู่แล้ว และยิ่งมาค้นหาบน Lazada นั่นคือสนใจจะซื้อสินค้ามาก ๆ ดังนั้นสินค้าที่มีความต้องการสูง สินค้าที่ต้องเปรียบเทียบทางด้านราคา คุณสมบัติต่าง ๆ ควรใช้โฆษณาแบบ Search มาก และในภาพรวมนั้นอัตราการคลิก CTR ค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับการโฆษณาประเภทอื่น
จุดด้อย Sponsored Search (Search)
เนื่องจากการใช้คีย์เวิร์ดในการประมูลราคา และช่องทางในการแสดงผลลัพธ์ในการค้นหาน้อย รวมถึงมีการลงโฆษณาประเภท Search มาก ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจเลยว่าราคาประมูล Bidding จะสูงกว่าโฆษณาประเภทอื่น ๆ ทำให้ราคาต่อคลิกสูงไปด้วย และจุดด้อยอีกหนึ่งอย่างคือโฆษณาประเภทนี้ไม่ช่วยก่อให้เกิดด้าน Awareness เลย การแสดงโชว์สินค้าต่ำมาก และไม่ค่อยเหมาะกับสินค้าที่ราคาต่ำมาก ๆ นัก เนื่องจากสินค้าที่ราคาต่ำ เป็นสินค้าที่ตัดสินใจซื้อได้ง่าย และไม่อาจคุ้มทุนในด้านของราคาต่อคลิกด้วย (แต่ก็ทำได้นะ ไม่ใช่ว่าทำไม่ได้เลย)
Sponsored Search (Search) เหมาะกับใคร สินค้าประเภทไหน
เหมาะกับสินค้าที่มีราคาสูง สินค้าที่คนคิดเยอะ ๆ ก่อนที่จะซื้อ สินค้าที่ต้องเปรียบเทียบในหลาย ๆ ด้าน ทั้งราคา คุณภาพ คุณสมบัติ รวมไปถึงการสั่งซื้อสินค้าจำนวนมาก เพราะสิ่งเหล่านี้คือคนมักจะค้นหาก่อนซื้ออยู่เสมอ ทำให้ Search สามารถทำงานได้ดี และคุ้มค่าอีกด้วย
2. Sponsored Product (Discovery) แสดงในหน้า Home และสินค้าแนะนำ

โฆษณาแบบ Discovery มีจุดเด่นตรงที่ไม่ต้องรอเลย เพราะไม่ว่าลูกค้าจะดูหน้า Home หรือหน้าสินค้าแนะนำ ทุกการเลื่อนหรือสกรอหน้าจอ ก็จะทำให้สินค้าของเราไปแสดงอยู่ตรงนั้น ทำให้โฆษณาประเภทนี้ก็เป็นที่นิยมมาก ๆ เพราะราคาต่อคลิกไม่แดง การแสดงโฆษณาถือว่าสูงว่าแบบ Search และถ้าเราตั้งค่าด้วยตัวเอง เราสามารถเลือกการ Bidding ได้ด้วย โดยดารกำหนดราคาประมูลของสินค้าแต่และชนิดได้ รวมไปถึงการเพิ่มราคาประมูลอัตโนมัติ โดยระบุเป็นเปอร์เซ็นต์ เมื่อเจอลูกค้าที่เคยเข้ามาที่ร้านค้าเรามาแล้วภายใน 15 วัน หรือเพิ่มราคาประมูลเมื่อลูกค้าสนใจสินค้าที่คล้ายกัน แต่ถ้าคิดว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ยุ่งยาก ก็ให้ระบบประมูลอัตโนมัติก็ได้เช่นกัน
จุดเด่น Sponsored Product (Discovery)
จุดเด่นคือราคาต่อคลิกไม่สูงมาก ราคาต่ำกว่าแบบ Search พอสมควร และยังสามารถกระจายสินค้าโดยโชว์ได้ค่อนข้างเยอะ และยังสามารถกำหนดกลุ่มเป้าหมาย เพื่อเพิ่มราคา Bidding ได้ด้วย จึงเหมาะมาก ๆ กับการทำแคมเปญสินค้าที่เน้นกระจายให้แสดงเยอะ ๆ เน้นหาลูกค้าใหม่ ๆ เน้นจำนวนคลิกมาก ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสการซื้อให้มากขึ้น
จุดด้อย Sponsored Product (Discovery)
ถึงแม้ราคาต่อคลิกจะต่ำกว่าแบบ Search แต่โฆษณาแบบ Discovery นั้นมีข้อจำกัดที่ว่าอัตราการคลิก CTR จะต่ำกว่าแบบ Search เช่นกัน และถึงแม้จะกำหนดกลุ่มเป้าหมายได้ แต่ก็ไม่ได้ละเอียดมากนัก และถ้าเราทำโฆษณาแบบกำหนดเงินไว้สูง ๆ อาจทำให้โฆษณา Discovery ใช้เงินได้อย่างรวดเร็ว อาจไม่คุ้มค่าได้ ดังนั้นอาจต้องติดตามผลโฆษณาในแบบนี้ค่อนข้างมาก
โฆษณาแบบ Sponsored Product (Discovery) เหมาะกับใครและสินค้าประเภทไหน
เหมาะกับสินค้าที่ราคาไม่สูงมาก สินค้า FMCG สินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป เป็นสินค้าที่ตัดสินใจได้ง่าย เพราะโฆษณาแบบ Discovery เน้นโชว์ไปยังสินค้าที่มีความคล้ายคลึงกัน และไปหน้าโฮม หน้าฟีดทั่วไป ถ้าเป็นสินค้าที่ตัดสินใจง่าย ๆ จะช่วยให้ขายได้ง่ายมากขึ้น และยังเหมาะกับคนที่ต้องการหาลูกค้าใหม่ ๆ เพราะโฆษณา Discovery นั้น ช่วยเปิดโอกาส และกระจายการมองเห็นได้มากกว่าโฆษณาแบบ Search ดังนั้นใครที่กำลังมองหาและเน้นลูกค้าใหม่ โฆษณาแบบ Discovery ก็ตอบโจทย์ไม่น้อย
3. All (Sponsored Search + Sponsored Product)

ใครที่ตัดสินใจไม่ได้ว่าจะลงโฆษณาแบบ Search หรือ Discovery ดีกว่ากัน ก็สามารถเลือกแบบ All ได้ เพราะเป็นการนำคุณสมบัติทั้ง 2 อย่างมารวมกัน ทำให้โฆษณาได้ทั้งคู่ นับว่าเป็นข้อดี ทำให้คุณไม่ต้องแยกแคมเปญย่อย ๆ หลายอันอีกด้วย
จุดเด่น All (Sponsored Search + Sponsored Product)
แน่นอนว่าจุดเด่นคือการควบรวมการโฆษณาทั้งสองแบบ Search และ Discovery มาด้วยกัน ทำให้ได้โฆษณาทั้ง 2 แบบพร้อมกัน ทั้งราคาเฉลี่ยต่อคลิกไม่สูงมาก และยังได้แสดงที่ Search ด้วย อีกทั้งจุดเด่นอีกแบบคือช่วยควบรวมแคมเปญที่มีความซ้ำซ้อนได้อีก เช่นถ้าเราทำโฆษณาสินค้า A เราอาจต้องแยกเป็น 2 แคมเปญ คือ สินค้า A สำหรับ Search และ Discovery แต่พอมาใช้แบบ All เหลือเพียงแค่แคมเปญเดียวเท่านั้น ตรงนี้หลายคนอาจจะไม่ค่อยเห็นความสำคัญ แต่บอกเลยว่ามีแคมเปญน้อย ๆ ชีวิตจะง่ายขึ้นเยอะ
จุดด้อย All (Sponsored Search + Sponsored Product)
คือการควบคุมสามารถทำได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากออกทั้ง Search และ Discovery ไปพร้อมกัน เราไม่สามารถควบคุมได้ว่าจะให้ออกช่องทางไหนมากกว่า และยากต่อการวิเคราะห์ด้วย เพราะถ้าเราแยก Search กับ Discovery ออกจากกัน เราจะรู้ได้เลยว่า Search หรือ Discovery สามารถทำยอดขายหรือทำ ROAS คุ้มค่ากับค่าโฆษณาได้มากกว่า แต่ถ้าเป็น All ก็ยากที่จะดูตรงนี้ได้ เพราะว่ามันรวมกันนั่นเอง
แคมเปญแบบ All (Sponsored Search + Sponsored Product) เหมาะกับใคร
เหมาะกับคนที่ไม่ต้องการความซับซ้อนมานัก หรือมีจำนวนสินค้าเยอะ หรือสินค้าบางอย่างไม่ต้องโฟกัสมาก ไม่จำเป็นต้องแยก Search หรือ Discovery และยังเหมาะกับคนที่สร้างแคมเปญจนใกล้ข้อจำกัด เนื่องจาก Lazada Ads นั้นสามารถสร้างแคมเปญได้สูงสุดที่ 50 แคมเปญเท่านั้น (หลายคนอาจจะคิดว่าใครจะสร้างถึง 50 แคมเปญ มีสิ ผู้เขียนเองนี่แหละ!) การใช้แคมเปญแบบ All จะช่วยลดภาระจำนวนแคมเปญได้มากเลยทีเดียว
4. Automated Campaign ไปทุกที่ และเลือกสินค้าให้อัตโนมัติ

Automated Campaign มีความคล้ายกับแคมเปญ All มาก แต่ต่างกันตรงที่คุณไม่ต้องเลือกสินค้าเอง เพราะระบบเลือกสินค้ามาโปรโมทแบบทุกชิ้น และใน 1 Shop Seller Center จะสามารถสร้างได้แค่แคมเปญเดียว นอกเหนือจากนั้นก็สามารถทำได้ตามปกติเหมือนแคมเปญทั่วไป เช่นกำหนดวันโฆษณา งบประมาณ การ Bidding
จุดเด่น Automated Campaign
เนื่องจากเป็นการเลือกสินค้ามาโปรโมทโดยอัตโนมัติ ทุกสินค้า จะทำให้สินค้าเราเพิ่มโอกาสการขายไปทุกสินค้า ขึ้นอยู่กับว่าสินค้านั้นเหมาะกับใคร ใครที่กำลังค้นหาหรือสนใจสินค้านั้น เพราะการที่เราเลือกสินค้าเองก็อาจไม่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายได้ ซึ่งแคมเปญ Automated มาอุดรอยรั่วนี้ และจากประสบการณ์ของผู้เขียนเอง แคมเปญ Automated เกิด ROAS ในระดับสูงสุดเมื่อเทียบกับทุกแคมเปญที่ว่ามา ขายสินค้าได้เป็นจำนวนมากด้วย (ย้ำอีกทีว่าจากประสบการณ์ส่วนตัวเท่านั้น)
จุดด้อย Automated Campaign
การที่โปรโมททุกสินค้าก็อาจเรียกได้ว่าเป็นจุดด้อยเหมือนกัน เพราะบางทีไปโปรโมตในสินค้าที่เราไม่ได้อยากโปรโมต ถึงแม้จะเลือกปิดได้เป็นรายสินค้าไป แต่ถ้าเรามาปิดหลาย ๆ สินค้า ก็เล่นเอาเหนื่อยเหมือนกัน และจุดด้อยอีกหนึ่งอย่างคือเราสามารถสร้าง Automated Campaign ได้แค่ 1 แคมเปญเท่านั้น ต่อร้านค้า ไม่สามารถสร้างได้มากกว่านี้ ยกเว้นเราจะมีหลายร้านค้า
Automated Campaign เหมาะกับใคร
แนะนำเลยว่าส่วนตัวค่อนข้างเชียร์แคมเปญแบบ Automated เพราะได้ผลลัพธ์ที่ดีและคุ้มค่า เหมาะกับทุกสินค้า เพราะมุ่งเน้นการขาย และต้องการรีดประสิทธิภาพออกมาได้สูงสุด ใครที่กำลังลังเลว่าจะสร้างแคมเปญแบบไหน ก็สามารถเริ่มจาก Automated ได้ สร้างง่าย และผลลัพธ์ค่อนข้างดีเลยทีเดียว
สรุป Lazada Ads เปรียบเทียบ Search, Discovery และ Auto Campaign เลือกแบบไหนดี
สำหรับการเลือกประเภทแคมเปญ แนะนำว่าให้มองว่าเราต้องการกลุ่มลูกค้าแบบไหน และสินค้าของเราเป็นแบบไหนเป็นหลัก และมี Budget มากน้อยแค่ไหน ถ้ามี Budget น้อยก็อาจพุ่งเป้าไปยังที่ทำให้เกิดยอดขายสูงสุด แต่ถ้ามี Budget มากหน่อย ก็อาจทำหลายแคมเปญแล้วมาเปรียบเทียบกันก็สามารถทำได้เหมือนกัน เพราะแต่ละรูปแบบแคมเปญ มีความแตกต่างกัน ดังนั้นการเลือกให้เหมาะสมจะเป็นเรื่องที่ดีที่สุด
ใครที่มีคำถามเกี่ยวกับ Digital Marketing หรือเกี่ยวกับเรื่องอื่น ๆ สามารถ Inbox สอบถามได้ที่ Facebook ของ Digital Break Time คำถามเด็ด ๆ ที่คิดว่ามีประโยชน์จะนำมาเขียนบอกเล่าให้กับคนอื่น ๆ ได้รู้ด้วย
ติดตามเรื่องราว Digital Marketing จาก Digital Break Time ได้ที่
Facebook, Twitter, Line Official Account, Instagram, Spotify, YouTube, Apple Podcast
ธนาคาร เลิศสุดวิชัย x Digital Break Time