เริ่มต้นเขียนบล็อก อย่างไรดี อันนี้เป็นคำถามที่หลายคนเริ่มมาถามในแชตทั้งส่วนตัวและในเพจ Digital Break Time จึงเขียนบทความนี้จากประสบการณ์ตรง เพื่อนให้เพื่อน ๆ ได้อ่านกัน
เริ่มต้นเขียนบล็อก ด้วยการเขียนในเรื่องที่ตัวเองชอบ
การเขียนในเรื่องที่เราชอบนั้น จะช่วยให้เกิดแรงบัลดาลใจ และทำให้การเขียนเป็นเรื่องง่ายขึ้น หลายคนอายที่จะแชร์ข้อมูล หรือกลัวว่าข้อมูลจะผิด อันนั้นแก้ไขง่ายมาก เพียงแค่เราจำเป็นต้องใช้แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ และลองอ่านตรวจทานซ้ำสักรอบหรือสองรอบ ก็จะช่วยลดความผิดพลาดเหล่านั้นไปได้
จริงอยู่ การเขียนบล็อกเราไม่จำเป็นต้องรู้เรื่องนั้น ๆ ที่ดีที่สุด หรือรู้ลึกที่สุด แต่การใส่ความคิดเห็น หรือการแสดงความเป็นตัวเองลงไป ทำให้บทความนั้นดูมีเสน่ห์ขึ้นมาทันที ถึงแม้ว่าจะมีคนเก่งกว่าเราในเรื่องนั้น ๆ ก็ตาม แต่คนที่เก่งในเรื่องนั้น ก็ใช่ว่าจะเขียนบล็อกหรือเล่าให้คนอื่นรู้เรื่องได้
การเริ่มต้นการเขียนบล็อกด้วยความชอบ จะทำให้เราเขียนบล็อกได้อย่างต่อเนื่อง เป็นธรรมชาติไหลลื่น ไม่ต้องฝืนความเป็นตัวเอง การหาข้อมูลก็จะง่ายขึ้น เขียนจากประสบการณ์มากขึ้น ทำให้งานเขียนออกมาดีนั่นเอง
เขียนอย่างสม่ำเสมอ
พูดถึงข้อนี้แล้วเรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่ทำยากมากสำหรับตัวเองเลยก็ว่าได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ทำงานประจำไปด้วย อาจทำให้การแบ่งเวลามาเพื่อเขียนบล็อกอาจไม่แน่นอน หรืออาจจะมีช่วงที่ท้อบ้าง ทำให้การเขียนสม่ำเสมอเป็นเรื่องที่ทำได้ยากพอสมควร (สำหรับตัวผู้เขียนเอง)
ซึ่งข้อนี้มีความสำคัญมาก เพราะคนที่ติดตามเหมือนเป็นแฟนตัวยง ก็อายากจะทราบว่าเราจะเผยแพร่บล็อกหรือบทความของตัวเอง วันไหนเวลาอะไร เพราะถ้ามีวันเวลาเผยแพร่ที่ชัดเจน ก็เหมือนกับการรักษาสัญญากับผู้อ่าน และยังทำให้เราสามารถนับจำนวนบทความหรือกำหนดเป็น KPI ได้ด้วย เมื่อบทความมีจำนวนมากขึ้น แน่นอนว่าทราฟิกก็มากขึ้นเป็นเงาตามตัว อย่างน้อยก็เป็นการเพิ่มโอกาสการมองเห็น หรือการเข้าชมมากขึ้นนั่นเอง
เลือกช่องทางเผยแพร่ที่ใช่ในช่วงแรก
การเขียนบล็อก ถึงแม้ว่าจะขึ้นชื่อว่าเป็นบล็อก แต่ใช่ว่าจะเป็นเพียงในเว็บไซต์เท่านั้น แต่ยังเริ่มได้จากบน Social Media อย่าง Facebook ก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมีเว็บไซต์เองก็สามารถเขียนได้อย่างการใช้เว็บไซต์ Medium.com หรือ Storylog.co หรือถ้าเขียนนิยายก็มีเว็บไซต์ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนเริ่มเขียนนิยายได้ ซึ่งแน่นอนว่าการเขียนในช่วงแรกว่าเหนื่อยแล้ว การเลือกพื้นที่เผยแพร่ก็เหนื่อยไม่แพ้กัน ก็เลือกให้เหมาะกับงานเขียนของตัวเอง การใช้พื้นที่แพลตฟอร์มฟรีก็เป็นเรื่องง่าย แต่คนที่จะเริ่มมีเว็บไซต์ของตัวเองก็สามารถนำไปต่อยอดและวัดผลได้ละเอียดกว่า แต่สิ่งเหล่านี้สามารถเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต
ส่วนตัวเองเลือกใช้เว็บไซต์ของตัวเอง เพราะสามารถนำไปต่อยอดอย่างอื่นได้ และยังวัดผลคนที่เข้ามาอ่านได้อย่างละเอียด ในอนาคตก็ยังปรับแต่งหน้าเว็บไซต์ได้ตามใจต้องการด้วย
ฟีดแบ็ค และการอ้างอิงคือกำลังใจชั้นเยี่ยม อย่าท้อ
คนที่เพิ่งเริ่มเขียนบล็อก อาจจะมีการเบื่อหรือท้อแท้ในช่วงแรก เนื่องจากจำนวนบทความมีน้อย คนไลค์คนแชร์ก็ยังไม่มาก คนอ่านก็น้อยตาม ดังนั้นก็อย่าลืมวัดฟีดแบ็คต่าง ๆ เอาไว้ เช่นจำนวนคนไลค์ คนแชร์ Traffic ที่เข้าเว็บไซต์ การวัดผลเหล่านี้อย่างน้อยให้เห็นถึงความก้าวหน้าสิ่งที่เราได้เริ่มทำลงไป ถ้าทำอย่างสม่ำเสมอและจับแนวทางได้ ตัวเลขเหล่านี้ก็จะค่อย ๆ เพิ่มขึ้น
คนที่มาคอมเมนต์ หรือทักแชตมาเพื่อสอบถามเรา ในเรื่องที่เราได้เขียนบล็อกไป นับว่าเป็นกำลังใจชั้นเยี่ยม โดยส่วนตัวแล้วยินดีมากที่จะตอบทุกคำถาม ได้แก้ไขปัญหาให้กับคนที่มาถามเบื้องต้น ช่วยให้ตัวเองมีกำลังใจเพิ่มมากขึ้น หรือแม้กระทั่งมีคนนำบทความของเราไปอ้างอิงไปใช้ (ส่วนตัวเคยมีคนนำบทความไปอ้างอิงในบทความอื่น รวมไปถึงสารนิพนธ์ วิทยานิพนธ์ การค้นคว้าอิสระต่าง ๆ รู้สึกยินดีเป็นอย่างมาก ดีใจจนบอกไม่ถูก) ทำให้รับรู้ได้จริงว่าบล็อกหรืองานเขียนของเรา มีประโยชน์ต่อคนอื่นเป็นวงกว้างเช่นกัน
โดยสรุปแล้วการเริ่มต้นเขียนบล็อก จะยากตอนเริ่มต้น และความสม่ำเสมอในการเขียน แต่เมื่อได้ทำเป็นประจำ จะเกิดความเคยชิน และได้พัฒนาทักษะการเขียนเพิ่มเติม หากมีการวัดผลเป็นระยะ ก็จะทำให้เรารู้ว่ามีการเติบโตขึ้นมากแค่ไหน และการมีฟีดแบ็กก็เป็นเหมือนการเติมกำลังใจในการเขียนต่อไป
ใครที่มีคำถามเกี่ยวกับ Digital Marketing หรือเกี่ยวกับเรื่องอื่น ๆ สามารถ Inbox สอบถามได้ที่ Facebook ของ Digital Break Time คำถามเด็ด ๆ ที่คิดว่ามีประโยชน์จะนำมาเขียนบอกเล่าให้กับคนอื่น ๆ ได้รู้ด้วย
ติดตามข่าวสาร บทความดี ๆ จาก Digital Break Time ได้ที่
Facebook, Twitter, Line Official Account, Instagram
ธนาคาร เลิศสุดวิชัย x Digital Break Time