ตรวจรับเว็บไซต์ เรียกได้ว่าเว็บไซต์นั้นเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการทำ Digital Marketing และส่วนมากบริษัท SMEs ก็มักจะมีการจ้างทำเว็บไซต์จากบุคคลภายนอก ไม่ว่าจะเป็น เอเจนซี่ ฟรีแลนซ์ หรือผู้เชี่ยวชาญในการทำเว็บไซต์โดยเฉพาะทั้งเว็บดีไซน์เนอร์ หรือ Web Developer ทั้งหมดนี้เมื่อทำเว็บไซต์สำเร็จแล้ว ก็ต้องมีการตรวจรับเว็บไซต์
ซึ่งการตรวจรับเว็บไซต์ก็เหมือนกับการดู และเช็คในขั้นตอนสุดท้ายว่าเว็บไซต์ที่ทำมาเสร็จแล้ว สามารถใช้งานจริงได้แค่ไหน และมีอะไรที่เป็นจุดบกพร่องหรือบ้าง มีขั้นตอนแบบไหน ต้องดูอะไรบ้าง เนื่องจากทาง Digital Break Time ได้ทำเว็บไซต์ใหม่ขึ้นมา นั่นคือเว็บไซต์ moonday.agency ซึ่งเป็นเว็บไซต์บริษัทของทาง Digital Break Time อย่างเป็นทางการ และตอนนี้เว็บไซต์ก็ใกล้เสร็จแล้ว ใกล้จะถึงขั้นตอนตรวจรับเว็บไซต์ เลยมาเป็นคอนเทานต์นี้ขึ้นมานั่นเอง
ตรวจรับเว็บไซต์ ต้องเช็คอะไรบ้าง มีกี่ขั้นตอน เพื่อให้เว็บไซต์เว็บไซต์ออกมาสมบูรณ์
- เช็คความถูกต้องของคอนเทนต์ องค์ประกอบโดยรวม เช่น สี และ Theme
- ตรวจสอบการแสดงผล เช็คเวอร์ชัน Desktop ว่าดีแล้ว แต่อย่าลืมเช็คในรูปแบบ Mobile ด้วย
- ตรวจสอบเรื่องของฟังก์ชันว่าใช้ได้จริงหรือไม่ เช่นระบบหลังบ้าน การเผยแพร่บทความ ข้อมูลต่าง ๆ
- ถ้ามีบริการติด Tracking Code ต่าง ๆ ต้องดูว่า Tracking และ Conversion ทำงานได้จริง
- ถ้าเป็นเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ ทดสอบเรื่องของระบบ Payment
- ส่วนเรื่องของความเร็วของเว็บไซต์ เอาแต่พอดี ไม่ต้องถึงขนาดเร็วมาก แต่ก็ไม่ต้องถึงขนาดช้าไป
- สรุป ตรวจรับเว็บไซต์ เสร็จแล้ว ก็อย่าลืมทำเว็บไซต์เติบโตมี Traffic เข้าด้วย
เช็คความถูกต้องของคอนเทนต์ องค์ประกอบโดยรวม เช่น สี และ Theme
เป็นสิ่งแรกที่เห็นได้ด้วยตาก่อน ไม่ว่าจะเป็น
- ความถูกต้องของคอนเทนต์
เช่นตัวอักษร ชื่อบริษัท เบอร์โทรต่าง ๆ ไลน์ไอดี ที่อยู่ จริง ๆ พวกนี้ค่อนข้างจะใช้เวลาประมาณหนึ่ง แต่สามารถตรวจสอบได้ง่าย และถ้ามีบางสิ่งผิดพลาดก็จะแก้ไขได้รวดเร็ว เพราะส่วนมากจะเป็นการแก้ไขในรูปแบบข้อความ หรือถ้าเป็นพวกรูปที่ใส่ตัวอักษรไปด้วย ก็จะแก้ไขยากหน่อย แต่ทั้งหมดนี้ตรวจเจอได้ง่ายและไม่ซับซ้อนมากนัก - สี, Theme, Wireframe, Website Structure
ส่วนมากการทำเว็บไซต์ คนที่ทำเว็บไซต์มักจะมีการออกแบบ Wireframe (แบบร่างของหน้าเว็บไซต์) และ Website Structure (โครงสร้างของเว็บไซต์) มาก่อนแล้วก่อนที่จะทำจริง ดังนั้นการทำออกมาถึงขั้นตอนจริงก็มักจะไม่ผิดเพี้ยนไปจากเดิมมากนัก เรียกได้ว่ามีความแม่นนำสูงถ้ามีการทำขั้นตอนนี้มาก่อน แต่ถ้ามีการผิดพลาดจากการทำขึ้นมาก็แก้ไขได้เช่นกัน เพราะถือว่าไม่ตรงตามที่แจ้งไว้แต่แรก
ส่วนเรื่องของสีและ Theme นั้น คนทำเว็บไซต์ ก็จะมีการนำเสนอมาก่อนล่วงหน้าและออกแบบให้เห็นก่อนเช่นกัน ซึ่งโดยจุดนี้มักจะมีการแก้ค่อนข้างน้อย แต่อยากให้ลองดูว่าในภาพรวมมีตัวอักษรตรงไหนจมบ้างไหม หรือ Hover เอาเมาส์ชี้ไปแล้วปุ่มเปลี่ยนสีแล้วอ่านออกไหม ลากคลุมดำแล้วเป็นยังไง เน้นเรื่องของ User Experience จะเป็นเรื่องที่สำคัญกว่า
ตรวจสอบการแสดงผล เช็คเวอร์ชัน Desktop ว่าดีแล้ว แต่อย่าลืมเช็คในรูปแบบ Mobile ด้วย
การแสดงผลนับว่ามีความสำคัญมาก ไม่ว่าจะเป็นการจัดวางเลย์เอาท์ว่าเป็นอย่างไร ขนาดของฟอนต์เป็นไปตามที่คุยกันไว้หรือไม่ แต่สิ่งที่หลายคนพลาดกันบ่อย ๆ นั่นคือมักจะเช็คเฉพาะเวอร์ชัน Desktop เพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะในช่วงการทำงานหลายคนก็มักจะใช้โน้ตบุ๊คหรือคอมพิวเตอร์เช็คกันอยู่แล้ว แต่เอาเข้าจริง ๆ ณ ปัจจุบันนี้ มีคนใช้มือถือเพื่อเข้าเว็บไซต์เยอะกว่ามาก ดังนั้นการเช็คจากมือถือรวมไปถึง Tablet ต่าง ๆ ก็นับว่าเป็นสิ่งจำเป็น เพราะในบางครั้งบน Desktop นั้นแสดงผลออกมาสวยงามตามที่ต้องการ แต่เมื่อเช็คการแสดงผลบน Mobile อาจจะมีการหลุด หรือแสดงผลบางอย่างที่ไม่สมบูรณ์ได้ ดังนั้นค่อย ๆ ใช้เวลาทยอยเช็คกันไป
ตรวจสอบเรื่องของฟังก์ชันว่าใช้ได้จริงหรือไม่ เช่นระบบหลังบ้าน การเผยแพร่บทความ ข้อมูลต่าง ๆ
ฟังก์ชันสามารถแยกออกมาได้หลายแบบ ถ้าเป็นเว็บไซต์เป็นเว็บไซต์แบบ Information ทั่วไป แบบไม่ได้มีความซับซ้อนสูง จะเช็คได้ง่ายและสะดวกกว่า ไม่ว่าจะเป็น
- การตรวจสอบเรื่องของระบบหลังบ้านการเผยแพร่คอนเทนต์ Blog ต่าง ๆ
- การเพิ่มหน้าของเว็บไซต์ได้เองแบบไม่มีปัญหา
- การจัดการเรื่องของ Users ผู้ที่ใช้งาน
แต่ถ้าเป็นเว็บไซต์ eCommerce สำหรับขายของด้วยอาจจะต้องมองในรายละเอียดที่เจาะลึกอย่าง
- ระบบสมาชิก
- ระบบ Loyalty การให้คะแนนต่าง ๆ (ถ้ามี)
- ระบบ CRM เบื้องต้น (ถ้ามี)
จริง ๆ แล้วระบบของเว็บไซต์ eCommerce จะค่อนข้างซับซ้อนกว่ามาก ดังนั้นจำเป็นที่จะต้องค่อยตรวจเช็คไปทีละระบบ เพื่อป้องกันไม่ให้พลาดเวลาใช้งานจริง
ถ้ามีบริการติด Tracking Code ต่าง ๆ ต้องดูว่า Tracking และ Conversion ทำงานได้จริง
เอเจนซี่หลายที่เมื่อปกติทำโฆษณาอื่น ๆ อยู่แล้ว และทำเรื่องเว็บไซต์ให้เราด้วย ก็มักจะมีการติดตั้งของ Tracking Code ต่าง ๆ ให้พร้อม ไม่ว่าจะเป็น Google Analytics / Meta Tag / TikTok Tag / Line Tag หรือการใช้งาน Google Search Console เองก็ตาม เราก็จำเป็นที่จะต้องเช็คว่าการ Tag เหล่านี้นั้นสามารถทำงานได้จริง และยังรวมไปถึงการตั้งค่า Conversion ด้วยว่าเป็นอย่างไรบ้าง Conversion นี้จะถูก Trigger ด้วยเงื่อนไขใด
ถ้าเป็นเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ ทดสอบเรื่องของระบบ Payment
จากที่กล่าวไปเบื้องต้นแล้วว่า ระบบเว็บไซต์ eCommerce นั้นมีความซับซ้อนมากกว่าเว็บไซต์ทั่วไปมากนัก นกเหนือจาก ระบบสมาชิก ระบบ CRM และระบบ Loyalty ที่ระบบพวกนี้มักจะเป็นตัวเลือกเสริมว่าจะทำหรือไม่ทำก็ได้ แต่ระบบที่เว็บไซต์ eCommerce ที่จำเป็นจะต้องมีคือ ระบบการชำระเงิน Payment นั่นเอง ก็ต้องเช็คให้ดีว่า เรารองรับการชำระเงินอะไรบ้าง เช่นการตัดบัตรเครดิต โอนเงินผ่านพร้อมเพย์ ฯลฯ ซึ่งตรงนี้จำเป็นต้องคุยกันตั้งแต่แรกอยู่แล้ว แต่ที่อยากให้ลองคือ ใช้งานจริง สั่งซื้อจริง ว่าระบบการทำงานเป้นอย่างไร มีประสิทธิภาพแค่ไหน การจ่ายเงินยุ่งยากหรือเปล่า เพราะการชำระเงินมีขั้นตอนเยอะหรือยุ่งยาก ก็จะอาจเป็นปัญหาในเรื่องของยอดขายในภายภาคหน้าได้
ส่วนเรื่องของความเร็วของเว็บไซต์ เอาแต่พอดี ไม่ต้องถึงขนาดเร็วมาก แต่ก็ไม่ต้องถึงขนาดช้าไป
ทางเราเข้าใจว่าอยากให้เว็บไซต์แสดงผลออกมาอย่างรวดเร็วทันใจ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ถ้าเราต้องการความเร็วสูงให้เว็บไซต์โหลดเร็ว อาจจะทำให้เราแทบจะไม่ต้องใส่รูปเลย สคิปต์อะไรก็จะใส่ได้น้อยมาก เลยอาจจะเป็นอีกข้อจำกัดหนึ่งที่ทำให้เว็บไซต์ของเราออกมาสวยน้อยลง หรือไม่ได้ออกมาดั่งใดเท่าไรนัก แนะนำว่าให้เอาแต่พอดี เช่นเว็บยังโหลดได้เร็วในช่วงเวลาที่รับได่ ไม่นานเกินไป ควบคู่ไปกับสมดุลเรื่องของความสวยงาม และฟังก์ชันต่าง ๆ เอาจริง ๆ ถ้าคุณได้ลองเช็คเว็บไซต์ขายของใหญ่ ๆ ความเร็วในการโหลดของเว็บไซต์นั้นก็ไม่ได้เร็วขนาดติดจรวด ค่อนไปทางกลาง ๆ ด้วยซ้ำ แต่ก็ต้องบาลานซ์กับไปกับความสวยงามด้วย
สรุป ตรวจรับเว็บไซต์ เสร็จแล้ว ก็อย่าลืมทำเว็บไซต์เติบโตมี Traffic เข้าด้วย
ทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องที่เราควรจะต้องตรวจเช็คเว็บไซต์ ว่าใช้งานได้จริงแค่ไหน จริง ๆ เป็นหน้าที่ของเราที่จำเป็นจพต้องตรวจสอบเว็บไซต์ให้ดี เพื่อให้เว็บไซต์ของเราออกมาสามารถใช้งานได้อย่างสมบูรณ์ และหลังจากเมื่อตรวจรับเว็บไซต์ไปแล้ว ก็อย่าลืมที่จะต้องทำให้เว็บไซต์เติบโตไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นการทำโฆษณาทางช่องทาง Social Media ต่าง ๆ หรือ Google Ads รวมไปถึงการทำคอนเทนต์ Blog และ SEO เพื่อให้เว็บไซต์ของเราทำหน้าที่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ตอบโจทย์เรื่องของ Digital Marketing อีกด้วย
ติดตามเรื่องราว Digital Marketing จาก Digital Break Time ได้ที่
Facebook, X, Line Official Account, Instagram, Spotify, YouTube, Apple Podcast
ธนาคาร เลิศสุดวิชัย x Digital Break Time