แชร์ทริค หางาน Content Marketing อย่างไรให้ได้ตำแหน่งที่ใช่ และบริษัทที่ต้องการ จากประสบการณ์ตรงของคนที่ทำงานสายคอนเทนต์มาแล้ว 4 ปี ได้ทำงานกับบริษัทที่ตรงใจบ้าง ไม่ตรงใจก็มี ใครที่เป็น First jobber หรือคนที่อยากเปลี่ยนสายงานมาเป็นสายคอนเทนต์ อยากรู้ว่าการหาบริษัทที่ใช่ ต้องดูจากอะไรบ้าง แล้วอะไรที่เป็น Red flag เข้าไปแล้วเสี่ยงอยู่ไม่ทน ลองอ่านได้ในบทความนี้เลยค่ะ
เลือกอ่าน ทริคหางานตำแหน่ง Content Marketing ให้ได้บริษัทที่ใช่
How to หางาน Content Marketing ให้ได้บริษัทที่ใช่ พิจารณาจากอะไรบ้าง
1. ดูรายละเอียดหน้าที่ให้ครบถ้วน
ใครที่ได้ลองหางานในเว็บหางานต่างๆ แล้ว จะเห็นว่าชื่อตำแหน่งมีหลากหลายมากๆ ตามแต่ละบริษัทจะเรียก เช่น Content marketing, Creative, Content creator, Content writer และอื่นๆ นอกจากนี้บริษัทที่ใช้ชื่อตำแหน่งเดียวกันก็อาจให้รับผิดชอบงานที่แตกต่างกัน ดังนั้นไม่ว่าบริษัทจะใช้ชื่อตำแหน่งอะไร แนะนำให้อ่านคำบรรยายรายละเอียดงานให้ครบถ้วนก่อนว่าบริษัทต้องการให้เราทำงานอะไรบ้าง แล้วตรงกับความสนใจหรือไม่
2. ดู Location ของที่ทำงานก่อนสมัคร
ก่อนที่จะกดสมัครงาน หรือหว่าน Resume อยากให้ลองกดไปดูสถานที่ตั้งของที่ทำงานก่อนว่าอยู่แถวไหน เราจะเดินทางสะดวกไหม โดยเฉพาะคนที่ไม่มีรถควรดูให้ละเอียดไปจนถึงว่า ต้องเดินทางด้วยรถอะไร ต่อรถที่ไหน และถ้าหากต้องเดินเข้าซอยเพื่อไปยังออฟฟิศ สภาพแวดล้อมของซอยเปลี่ยวหรือเปล่า มีวินมอเตอร์ไซค์ไหม ต้องเดินไกลเท่าไหร่ โดยส่วนตัวแล้วถ้าเจอบริษัทที่น่าสนใจ แต่เดินทางยาก ดูไม่ปลอดภัย ผู้เขียนจะไม่สมัครหรือไม่สัมภาษณ์ให้เสียเวลากันทั้ง 2 ฝ่าย
3. ได้เงินเดือนในเรทที่ต้องการหรือไม่
เงินเดือน เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ใช้ในการตัดสินใจเลือกที่ทำงาน เงินเดือนต้องคุ้มค่ากับหน้าที่ที่ได้รับผิดชอบ อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่คนทำงานในสายนี้ได้รับ และครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมด ลองคำนวณดูก่อนว่าค่าใช้จ่าย ทั้งค่ากิน ค่าที่อยู่ ซื้อของจำเป็น เงินเก็บ เงินส่งให้พ่อแม่ และอื่นๆ รวมกันแล้วเป็นเท่าไหร่ และนั่นคือจำนวนเงินขั้นต่ำสุด ไม่ควรต่ำไปมากกว่านี้ อย่ารีบคว้าโอกาสที่มาเร็วแต่ได้เงินเดือนไม่เพียงพอ เพราะคุณจะไม่มีความสุขกับการทำงาน
4. มีสวัสดิการที่ดึงดูดใจหรือไม่
สวัสดิการก็สำคัญไม่แพ้กับเงินเดือนเลย บางทีบริษัทที่ให้เงินเดือนน้อยกว่า แต่มีสวัสดิการที่พนักงานต้องการ อาจถูกเลือกมากกว่าบริษัทที่ให้เงินเดือนเยอะแต่ไม่มีสวัสดิการที่ดึงดูดใจ เช่น บริษัทที่มีประกันสุขภาพให้พนักงานและครอบครัว อาจเป็นที่หมายปองของใครหลายๆ คน เพราะทำให้รู้สึกมีความมั่นคงในชีวิตมากกว่าและยังครอบคลุมไปถึงคนในครอบครัวอีกด้วย ดังนั้นบริษัทไหนที่มีสวัสดิการที่หลากหลาย ช่วยทั้งในด้านการเงิน การออม สุขภาพ การพัฒนาตัวเอง อีกทั้งถ้าช่วยซัพพอร์ตไปจนถึงคนในครอบครัวด้วย ถือว่าบริษัทนั้นเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจเลยทีเดียว
5. Work from home / Hybrid / On site ทุกวัน
สำหรับบางคน รูปแบบการเข้างานอาจจะไม่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกบริษัทที่จะร่วมงานด้วย แต่ถ้าใครที่อยากหลีกหนีการจราจรติดขัด บ้านอยู่ไกล อยากทำงานที่บ้านทุกวัน หรืออยากเข้าออฟฟิศบ้าง ทำงานที่บ้านบ้าง เดี๋ยวนี้คุณมีตัวเลือกมากขึ้นแล้วค่ะ เพราะหลายๆ บริษัทปรับเปลี่ยนการเข้างานให้ยืดหยุ่นตามความต้องการของพนักงานแล้ว ดังนั้นเลือกสมัครงานกับบริษัทที่มีรูปแบบการเข้างานที่ตอบโจทย์คุณก็จะทำให้มีความสุขกับการทำงานมากขึ้น
6. เช็กสภาพแวดล้อมในที่ทำงาน
ก่อนสมัครงานหรืออยู่ในขั้นตัดสินใจว่าจะไปต่อกับบริษัทนี้ดีไหม คุณสามารถเช็กได้ว่าบริษัทมีสภาพแวดล้อมยังไง บรรยากาศการทำงานเป็นแบบไหน ด้วยการเข้าไปดูในโซเชียลมีเดียของบริษัท หรือบางที่อาจจะมีเว็บเพจสำหรับแนะนำองค์กรให้ผู้สนใจสมัครงานเข้ามาทำความรู้จักก่อน ซึ่งการเข้ามาดูคอนเทนต์เหล่านี้อาจทำให้คุณได้เห็นทัศนคติของผู้บริหาร หรือหัวหน้าอีกด้วย ก็จะช่วยให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่าอยากทำงานในบริษัทนั้นหรือไม่
4 Red Flags หางาน Content Marketing เจอแบบนี้ เลี่ยงดีกว่า
ทำงาน 6 วัน/สัปดาห์ หรือ ทำงานเสาร์เว้นเสาร์
การทำงานโดยมีวันหยุดเพียงแค่ 1 วันต่อสัปดาห์ อาจทำให้มีเวลาพักผ่อนไม่เพียงพอ เพราะอย่าลืมว่าถึงแม้จะเป็นวันที่ไม่ต้องไปทำงาน แต่เรายังมีภาระอื่นๆ ภายในบ้านที่ต้องจัดการ ดังนั้นช่วงเวลาที่ได้หยุดพักจริงๆ อาจมีเพียงไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น และวันต่อไปก็ต้องไปทำงานต่อ การมีลูปชีวิตแบบนี้อาจทำให้รู้สึกไม่มีความสุขกับการทำงาน ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ซึ่งสุขภาพที่เสียไปแล้ว บริษัทไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับเราแต่อย่างใด
อาจมีทำงานนอกเวลา แต่ไม่ระบุในสวัสดิการว่ามีจ่าย OT
บางบริษัทที่เขียนในโพสต์รับสมัครงานว่า “อาจมีการทำงานนอกเวลา” แต่ในสวัสดิการกลับไม่เขียนว่า มีการจ่าย OT คาดการณ์ไว้ได้เลยว่าถ้าได้เข้าไปร่วมงานด้วย คุณอาจจะต้องทำโอฟรี! คือการทำงานนอกเวลาแต่ไม่ได้เงิน เท่ากับว่ามีแต่เสียกับเสีย ทางที่ดี ถ้าใครที่ไม่ชอบหรือไม่สะดวกทำงานนอกเวลา (แม้ว่าจะได้เงิน) ตอนสัมภาษณ์ควรสอบถามบริษัทไปเลยว่าที่นี่มีการทำงานล่วงเวลาหรือเปล่า บ่อยแค่ไหน ยกตัวอย่าง Scenario ที่เคยทำให้เกิดการทำงานล่วงเวลา งานจะเป็นแบบไหน ถามให้ละเอียด เพื่อให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่าควรไปต่อหรือไม่
มีเวลาทำงานแบบ Flexible
มีความเสี่ยงที่จะเป็น Red flag ถ้าบริษัทไม่ได้อธิบายให้ชัดเจนว่า Flexible แค่ไหน เช่น อาจมีตัวเลือกการเข้า-ออกงานให้หลายตัวเลือก เช่น เข้า 9.00 น. ออก 18.00 น. กับ เข้า 10.00 น. ออก 19.00 น. เพื่อให้พนักงานหลีกเลี่ยงรถติดได้ หรือเลือกตามไลฟ์สไตล์ของพนักงานแต่ละคน แต่ถ้าอธิบายแค่ว่า “จะเข้าออกเวลาไหนก็ได้แล้วแต่พนักงาน ขอแค่ให้งานเสร็จ” ก็อาจมีความเสี่ยงว่าบริษัทจะสั่งงาน แก้งาน เรียกประชุม เวลาไหนก็ได้เหมือนกัน
เขียน JD ไม่ลงรายละเอียด เขียนคลุมเครือ
อีกหนึ่งความเสี่ยงที่จะเป็น Red flag คือการเขียนอธิบายตำแหน่งงานแบบคลุมเครือ ไม่ลงรายละเอียดให้ชัดเจน อย่างเช่น “สร้างคอนเทนต์ลงโซเชียลมีเดีย โดยนำเสนอจุดขายของสินค้าให้น่าสนใจ มีความคิดสร้างสรรค์ นำเสนอไอเดียใหม่ๆ และบรีฟกราฟิก” เขียนแบบนี้นอกจากจะไม่น่าเชื่อถือ ดูไม่เป็นมืออาชีพ คุณอาจเสี่ยงที่จะเข้าไปทำงานแล้วโดนโยนงานที่ไม่เกี่ยวข้องมาให้แบบไม่รู้จบ และทำให้โต้เถียงได้ยากว่าอะไรเป็นหน้าที่เราหรือไม่ใช่ เพราะ JD เขียนให้คลุมเครือตั้งแต่แรกแล้ว
และนี่ก็เป็นทริคในการ หางาน Content Marketing ให้ได้บริษัทที่ใช่ พร้อมกับข้อสังเกต Red flag ก่อนสมัครงาน อย่างไรก็ตามนี่เป็นเพียงประสบการณ์ที่ผู้เขียนได้รับมาเท่านั้น เพื่อนๆ อาจจะเจอประสบการณ์ที่แตกต่างออกไป สิ่งสำคัญคือ เมื่อคุณได้เข้าไปทำงานแล้ว ช่วง Probetion จะเป็นช่วงให้คุณได้เรียนรู้ว่าที่นี่ใช่หรือไม่ใช่ และสุดท้ายอยากให้คำนึงถึงสุขภาพของตัวเองเป็นอันดับแรก สุขภาพดี ทำงานได้ดี บริษัทได้ประโยชน์ สุขภาพเสีย งานเสีย บริษัทหาคนใหม่ค่ะ
ติดตามเรื่องราว Digital Marketing จาก Digital Break Time ได้ที่
Facebook, X, Line Official Account, Instagram, Spotify, YouTube, Apple Podcast