เปรียบเทียบ Content ยอดฮิตแต่ละประเภท ไม่ว่าจะเป็น บทความ SEO วิดีโอแบบยาว วิดีโอสั้น พอดแคสต์ หรือรูปภาพ คอนเทนต์แบบไหนที่เหมาะกับธุรกิจของคุณที่สุด? ในยุคที่คอนเทนต์คือหัวใจของการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมาย การเลือกใช้ “รูปแบบคอนเทนต์” ให้เหมาะสม ถือเป็นกลยุทธ์สำคัญที่จะช่วยให้แบรนด์เข้าถึงลูกค้าได้ แต่คำถามคือ แล้วคอนเทนต์รูปแบบไหนถึงจะ เหมาะสม หรือ ไม่เหมาะ สมกับแบรนด์ของคุณ บทความนี้มีคำตอบ! เราจะพาคุณไปสำรวจ จุดเด่นของคอนเทนต์แต่ละประเภท ความยากง่ายในการทำ ความเหมาะสมกับประเภทธุรกิจ และแพลตฟอร์มที่ควรใช้ เพื่อให้คุณมั่นใจได้ว่าควรจะเลือกใช้คอนเทนต์แบบไหนดี
เปรียบเทียบ Content 5 ประเภท มีจุดเด่นอะไร ทำยากไหม แล้วเหมาะกับธุรกิจแบบไหน?
1. บทความ SEO พื้นฐานที่มั่นคงของการตลาดออนไลน์

บทความ SEO คือคอนเทนต์ที่เขียนขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อให้ติดอันดับบนหน้าแรกของ Google หรือเครื่องมือค้นหาอื่น ๆ โดยการใช้ Keyword ที่กลุ่มเป้าหมายมักใช้ค้นหา เช่น หากคุณขายของแต่งบ้าน ลูกค้าอาจค้นหาด้วยคำว่า “ของแต่งบ้านสวย ๆ” หรือ “แต่งห้องนอนราคาประหยัด” หากคุณเขียนบทความที่มีคีย์เวิร์ดเหล่านี้อยู่ในชื่อเรื่อง หัวข้อย่อย และเนื้อหาอย่างพอดี Google ก็จะมองว่าเนื้อหานั้นเกี่ยวข้อง และมีโอกาสแสดงผลให้ผู้ค้นหาเห็นก่อนใคร
จุดเด่น
- ถ้าเขียนเนื้อหาได้ดีและตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายจนติดอันดับในหน้าแรก คุณจะสามารถดึงคนเข้าเว็บไซต์ได้เรื่อย ๆ โดยไม่ต้องใช้งบ
- ใช้ต้นทุนต่ำ ไม่ต้องใช้งบโฆษณา บทความก็สามารถขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งที่ผู้ค้นหาเห็นง่ายได้ แต่ต้องลงทุนกับคนเขียนเนื้อหาซึ่งต้องรู้เทคนิคในการเขียนให้ถูกหลัก SEO
- ช่วยสร้างภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือ ยิ่งมีบทความติดอันดับดี ๆ หลายบทความจนคนอ่านจำได้ พวกเขาจะมองว่าธุรกิจของคุณเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ
ความยากง่ายในการทำ
- เขียนง่ายสำหรับผู้ที่มีทักษะการเขียน แต่ต้องเข้าใจพื้นฐาน SEO
- ต้องใช้เวลาในการเห็นผลหรือขึ้นมาอยู่ในหน้าแรกของ Google ไม่เหมาะกับใครที่ต้องการผลลัพธ์แบบทันที
เหมาะกับธุรกิจประเภทไหน
- ร้านค้าออนไลน์ที่ขายสินค้าที่คนมักค้นหาใน Google
- ธุรกิจบริการ เช่น สปา โรงแรม คลินิกเสริมความงาม
- ธุรกิจที่เน้นข้อมูล เช่น การเงิน การศึกษา กฎหมาย
- ธุรกิจ B2B ที่เน้นสร้างความน่าเชื่อถือในสายตาคู่ค้า
แพลตฟอร์มที่เหมาะสม
- เว็บไซต์ของธุรกิจ
2. วิดีโอแบบยาว สื่อสารครบ จบในคลิปเดียว
วิดีโอแบบยาว คือวิดีโอที่มีความยาวมากกว่า 5 นาทีขึ้นไป มักใช้สำหรับการนำเสนอเนื้อหาที่ต้องการอธิบายอย่างละเอียด เช่น การสาธิตการใช้สินค้า รีวิวเชิงลึก คอร์สออนไลน์ การสัมภาษณ์ หรือการบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับแบรนด์ เช่น หากคุณขายเครื่องครัว วิดีโอแบบยาวสามารถสาธิตวิธีใช้สินค้าพร้อมทำอาหารเมนูหนึ่งให้ดูไปพร้อมกัน ผู้ชมจะเข้าใจทั้งคุณสมบัติสินค้าและการใช้งานจริงในชีวิตประจำวัน
จุดเด่น
- วิดีโอแบบยาว สามารถถ่ายทอดเรื่องราวได้ละเอียด ครบถ้วน ทำให้ผู้ชมรู้สึกมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น
- ช่วยเสริมความน่าเชื่อถือ เพราะผู้ชมเห็นภาพจริง เสียงจริง และสามารถตัดสินใจได้ง่ายขึ้น
- เหมาะกับคอนเทนต์เชิงลึก เช่น How-To หรือ รีวิวแบบจริงจัง
ความยากง่ายในการทำ
- ต้องใช้ทีมงานและใช้เวลาในการสร้างวิดีโอค่อนข้างนาน เช่น ต้องมีสคริปต์ มีการจัดหาอุปกรณ์ จัดแสง เสียง กล้อง ต้องมีช่วงถ่ายทำ ช่วงตัดต่อ และมีการออกแบบ Thumbnail จึงจะออกมาเป็น 1 วิดีโอได้
- คนเขียนสคริปต์ คนตัดต่อ ต้องมีความคิดสร้างสรรค์และต้องรู้เทคนิคทำให้คอนเทนต์มีความน่าสนใจตลอดคลิป
เหมาะกับธุรกิจประเภทไหน
- แบรนด์ที่ต้องการสร้างตัวตน เช่น Influencer Youtuber
- ธุรกิจที่ขายสินค้าราคาแพง หรือมีรายละเอียดต้องอธิบายเยอะ ๆ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์กีฬา
- ธุรกิจการศึกษาออนไลน์ โรงเรียนกวดวิชา หรือคอร์สเรียนออนไลน์
- ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ พาชมโครงการ/บ้าน
- ร้านเฟอร์นิเจอร์ หรือของแต่งบ้าน
- แบรนด์เครื่องสำอางหรือสกินแคร์ แสดงการใช้จริงหรือรีวิว
แพลตฟอร์มที่เหมาะสม
- YouTube
- Facebook Video
- เว็บไซต์ของบริษัท
3. วิดีโอสั้น กระชับแต่ทรงพลัง

ในการ เปรียบเทียบ Content ทั้ง 5 รูปแบบ วิดีโอสั้น ถือเป็นคอนเทนต์ยอดนิยมมากที่สุดในตอนนี้ โดยจะเป็นคลิปที่มีความยาวตั้งแต่ 15-90 วินาที มักมีจุดประสงค์เพื่อสร้างความสนใจ สร้างความสนุกสนาน หรือดึงดูดความสนใจอย่างรวดเร็ว วิดีโอสั้นจะถูกออกแบบให้สามารถดูได้ไว แชร์ได้ง่าย และมีโอกาสไวรัลได้สูง
วิดีโอสั้นมักจะนำเสนอไอเดีย สินค้า หรือบริการให้เข้าใจได้ภายในไม่กี่วินาที เช่น คลิป unbox สินค้า คลิปรีวิวสั้น ๆ เบื้องหลังการทำงาน หรือเคล็ดลับเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ผู้ชมสามารถนำไปใช้ได้ทันที ซึ่งเหมาะกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ชอบดูอะไรเร็ว ๆ ไม่ชอบเนื้อหายืดเยื้อ
จุดเด่น
- สามารถเข้าถึงผู้ชมได้เร็ว มีโอกาสไวรัลได้ง่าย
- ช่วยเพิ่มการรับรู้แบรนด์ (Brand Awareness) ได้อย่างยอดเยี่ยม
- งบน้อยก็สามารถทำได้
ความยากง่ายในการทำ
- ถ่ายทำง่าย แต่จะยากในการทำให้คลิปสามารถ “ดึงดูดความสนใจ” ภายในไม่กี่วินาทีแรก ถ้าไม่สนุกหรือไม่น่าสนใจ คนดูก็จะเลื่อนผ่านไปทันที ดังนั้นการวางแผนเนื้อหา การเลือกเสียงดนตรี และการตัดต่อให้กระชับมีผลอย่างมาก
- คนทำคอนเทนต์ต้องอัปเดตเทรนด์ใหม่ ๆ ตลอดเวลา มีอะไรเป็นกระแสต้องหยิบมาทำคอนเทนต์ได้รวดเร็ว
เหมาะกับธุรกิจประเภทไหน
- แบรนด์อาหาร/ขนม ร้านอาหาร คาเฟ่ที่เน้นภาพสวยเมนูน่ากิน
- ธุรกิจที่ต้องการเข้าถึงวัยรุ่น
- แบรนด์แฟชั่น เสื้อผ้า เครื่องประดับ
- แบรนด์เครื่องสำอาง ความสวยความงาม
- สินค้านำเข้า แกดเจ็ต ของใช้เก๋ ๆ
- อินฟลูเอนเซอร์ หรือคอนเทนต์ครีเอเตอร์ ที่ต้องการสร้างคาแรกเตอร์ได้ไว ๆ
แพลตฟอร์มที่เหมาะสม
- TikTok
- Instagram/Facebook Reels
- YouTube Shorts
4. รูปภาพ คอนเทนต์เร็ว ใช้งบน้อย แต่ทรงพลัง
รูปภาพ เป็นคอนเทนต์ที่ง่ายที่สุดในการเริ่มต้น และยังทรงพลังในการดึงดูดสายตาได้ดีเยี่ยม ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่ายสินค้า ภาพคำคม ภาพเมนูอาหาร หรือแม้แต่อินโฟกราฟิกที่อธิบายข้อมูลสำคัญ ๆ อย่างกระชับ ภาพสามารถสื่อสารข้อความได้ในเวลาไม่ถึง 3 วินาที โดยไม่ต้องใช้คำพูด
การสร้างคอนเทนต์รูปภาพมักใช้ต้นทุนน้อย สามารถถ่ายด้วยกล้องมือถือ หรือสร้างด้วยโปรแกรมกราฟิกง่าย ๆ อย่าง Canva ก็ได้ เหมาะกับแบรนด์ที่ต้องโพสต์บ่อย ๆ เพื่อให้ลูกค้ารับรู้แบรนด์อยู่เสมอ เช่น การลงโพสต์บน Facebook หรือ Instagram ทุกวัน
จุดเด่น
- สร้างได้ง่าย ไม่ต้องใช้ทีมงานหรือใช้งบเยอะ บางครั้งรูปภาพเพียงภาพเดียวอาจขายสินค้าได้เลย โดยไม่ต้องใช้ข้อความเยอะ หากเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคบนแพลตฟอร์มนั้น ๆ
- เหมาะกับโซเชียลมีเดียที่ต้องลงโพสต์บ่อย ๆ ลงโพสต์ทุกวัน
ความยากง่ายในการทำ
- ทำง่ายที่สุดในบรรดาคอนเทนต์ทุกแบบ แต่ต้องมีทักษะในการทำภาพให้ดูน่าสนใจและดึงดูด เช่น การเลือกใช้ภาพ เลือกใช้สี การจัดองค์ประกอบภาพและข้อความ รู้ว่าต้องทำอะไรให้เด่น ลูกค้าเห็นแล้วเข้าใจทันที
- หากทำภาพไม่ดีอาจทำให้แบรนด์ดูไม่มีคุณภาพ เช่น คอนเทนต์ที่ต้องการสร้างความน่าเชื่อถือ แต่ใช้รูปไดคัตไม่ดี รูปแตก พิมพ์ข้อความผิด
เหมาะกับธุรกิจประเภทไหน
- ร้านค้าออนไลน์
- แบรนด์แฟชั่น และเครื่องสำอาง
- ร้านอาหาร คาเฟ่ เบเกอรี่
- เพจข้อมูล ความรู้สุขภาพ/ไลฟ์สไตล์
- ธุรกิจท่องเที่ยว หรือที่พัก
- ร้านค้าออนไลน์ที่ใช้แพลตฟอร์มอย่าง Instagram Facebook
ความจริงแล้วคอนเทนต์รูปภาพถือเป็นคอนเทนต์พื้นฐานที่ทุกธุรกิจสามารถใช้ได้ เพราะเป็นรูปแบบที่เข้าถึงง่ายที่สุด ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขายของ บริการ หรือแม้แต่สายให้ความรู้ก็ยังใช้ภาพเป็นเครื่องมือสื่อสารที่ทรงพลังได้
แพลตฟอร์มที่เหมาะสม
- Line Official Account
5. พอดแคสต์ เสียงที่ช่วยสร้างความผูกพัน

พอดแคสต์ (Podcast) คือคอนเทนต์เสียงที่ผู้ฟังสามารถเปิดฟังได้ทุกที่ทุกเวลา โดยไม่ต้องจ้องหน้าจอ ไม่ต้องนั่งอ่าน Subtitle เหมาะมากกับคนที่ใช้ชีวิตเร่งรีบ เช่น ฟังระหว่างเดินทาง ออกกำลังกาย หรือทำงานบ้าน พอดแคสต์มักเป็นการพูดคุย อธิบาย เล่าเรื่องต่าง ๆ เช่น เรื่องธุรกิจ การพัฒนาตัวเอง สุขภาพ ความคิดสร้างสรรค์ หรือการสัมภาษณ์คนในวงการต่าง ๆ
จุดเด่น
- ผู้ชมสามารถฟังได้ทุกที่ทุกเวลา เหมาะกับวิถีชีวิตของผู้ชมหลายกลุ่มที่ไม่สามารถจ้องหน้าจอได้และอยากหาอะไรฟัง เช่น คนที่เดินทาง ออกกำลังกาย แต่งหน้า ทำอาหาร ทำงานบ้าน
- เป็นคอนเทนต์ที่เหมาะกับเนื้อหาที่มีรายละเอียดเยอะ ๆ ต้องการอธิบายยาว ๆ
- เน้นการพูดคุย เล่าเรื่อง โดยใช้เสียงเป็นหลัก ซึ่งเสียงช่วยสร้างความผูกพันระหว่างผู้พูดกับผู้ฟังได้
ความยากง่ายในการทำ
- ใช้อุปกรณ์ไม่เยอะ เพียงแค่มีไมโครโฟนและโปรแกรมตัดต่อเสียงก็ทำได้ และสามารถเริ่มได้ด้วยตัวคนเดียว
- ส่วนที่สำคัญที่สุดคือการใช้ทักษะการพูดให้น่าสนใจ ใช้น้ำเสียงน่าฟัง นอกจากนี้คือเรื่องคอนเทนต์ เลือกเรื่องที่กลุ่มเป้าหมายของคุณสนใจ และเขียนสคริปต์หรือบทพูดสำหรับไกด์ให้ผู้พูด
เหมาะกับธุรกิจประเภทไหน
- โค้ชด้านพัฒนาตัวเอง หรือวิทยากร
- ที่ปรึกษาทางธุรกิจ
- ธุรกิจที่ให้ความรู้ เช่น การเงิน การลงทุน การตลาด
- ช่องเล่าเรื่อง เช่น ประวัติแบรนด์ ประสบการณ์ลูกค้า
- องค์กรไม่แสวงหากำไร หรือแบรนด์เพื่อสังคม ที่ต้องการเล่าประเด็นลึก
- ธุรกิจ B2B ที่เน้นเนื้อหาหนัก ๆ แต่เข้าถึงเฉพาะกลุ่ม
- ช่องสอนภาษา
แพลตฟอร์มที่เหมาะสม
- Spotify
- Apple Podcasts
- YouTube
- Podbean
สรุป เปรียบเทียบ Content 5 ประเภท เลือกยังไงให้เข้ากับธุรกิจคุณ
การเลือกใช้คอนเทนต์ให้เหมาะกับธุรกิจ ไม่ใช่เรื่องของการเลือกตามกระแส หรือทำแบบไหนก็ได้โดยไม่มีแผน เพราะแต่ละรูปแบบมีจุดเด่น และเหมาะกับเป้าหมายที่แตกต่างกัน บางธุรกิจอาจเหมาะกับบทความ SEO ที่เน้นประโยชน์ในระยะยาว บางแบรนด์ก็เหมาะกับวิดีโอสั้นที่เรียกความสนใจในไม่กี่วินาที หรือบางคนอาจเชื่อมโยงกับลูกค้าได้ดีผ่านเสียงในพอดแคสต์
สิ่งสำคัญคือ ต้องรู้ว่าเป้าหมายของคุณคืออะไร กลุ่มเป้าหมายของคุณอยู่ที่ไหน และคุณมีศักยภาพในการทำคอนเทนต์แบบไหนได้ดีและต่อเนื่องที่สุด อย่าลืมว่าคอนเทนต์ไม่ใช่แค่ทำครั้งเดียวแล้วจบ แต่ต้องทำซ้ำ ทำสม่ำเสมอ และพัฒนาไปเรื่อย ๆ และเมื่อเลือกได้ถูกต้อง คอนเทนต์จะไม่ใช่แค่เรื่องของโพสต์ประจำวัน แต่จะกลายเป็นเครื่องมือทรงพลัง ที่ช่วยสร้างตัวตน สร้างยอดขาย และสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว
ติดตามเรื่องราว Digital Marketing จาก Digital Break Time ได้ที่
Facebook, X, Line Official Account, Instagram, Spotify, YouTube, Apple Podcast