ระบบ Billing Facebook Ads (Meta Ads) และ Google Ads อาจดูไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับ Digital Marketing ทางตรงเท่าไรนัก แต่เอาเข้าจริงแล้วเกี่ยวมากกว่าที่คิด เพราะใครที่ทำ Digital Marketing เองจำเป็นที่จะต้องใช้ระบบ Billing การจ่ายเงิน ของเครื่องมือต่าง ๆ ด้วย
ซึ่งคอนเทนต์นี้อาจจะไม่ได้มีประโยชน์เท่าไรนักสำหรับคนที่จ้างเอเจนซี (ฮา) เพราะว่าการจ้างเอเจนซีเราจำเป็นที่จะต้องจ่ายเอเจนซีเป็นก้อน รวมทั้งค่าโฆษณา ค่าจ้าง และ ค่า Fee แต่สำหรับใครที่ทำโฆษณาเอง ลงโฆษณาเอง ยิงแอดกันเอง ก็ต้องมีระบบ Billing ที่เกี่ยวข้องแน่นอน และเมื่อเห็นรายการตัดบัตรหรือค่าใช้จ่าย หลายคนก็จะงงและสงสัยในหลายอย่างของระบบ Billing โดยเฉพาะที่ว่าการตัดเงินทำไมไม่เท่ากับจำนวนเงินที่ใช้ไป
จริง ๆ ที่เกิดคอนเทนต์นี้ขึ้นมานั้น เพราะได้อ่านปัญหาจากทั้ง Social Media ว่าทำไม Facebook Ads, Meta Ads, Google Ads รวมไปถึงเครื่องมืออื่น ๆ ว่า ทำไมเดือนที่ผ่านมาถึงเกิดการตัดบัตรหรือ Billing ไม่เท่ากับที่ใช้ในโฆษณา เลยจะมาไขข้อข้องใจกัน เพื่อให้เห็นภาพ
ระบบ Billing Facebook Ads (Meta Ads) และ Google Ads ทำงานอย่างไร
- ระบบ Billing มีทั้งแบบ เติมเงิน Invoice และ ตัดบัตรเครดิต
- Ad Spent ไม่ได้แปลว่าต้องเท่ากับค่าใช้จ่ายในเดือนนั้น ๆ สำหรับการตัดบัตรเครดิต
- หลักการ Billing ของ Facebook Ads และ Google Ads มีตัดตามเมื่อใช้ถึงรอบ (วัน) และเมื่อถึงจำนวนเงินที่กำหนด
- ระบบ Billing อย่าแปลกใจถ้าต่อให้คุณหยุดโฆษณาแล้ว แต่ยังมีการตัดบัตรข้ามเดือน ยกตัวอย่าง
ระบบ Billing มีทั้งแบบ เติมเงิน Invoice และ ตัดบัตรเครดิต
ก่อนที่เราจะไปถึงการตัดบัตร เราต้องรู้ก่อนว่าระบบการชำระเงินของเครื่องมือ Digital Marketing ต่าง ๆ มักจะแบ่งเป็น 3 รูปแบบด้วยกันคือ
- แบบเติมเงิน หรือ Pre-paid
ก็ตรงตัวเลยว่าเราจำเป็นที่จะต้องเติมเงินเข้าไปในระบบก่อน เหมาะกับคนที่ไม่มีบัตรเครดิต หรือบัตรเดบิต แต่ทว่าก็มีข้อเสียก็คือเราจำเป็นต้องจ่ายเงินเข้าไปในระบบก่อน และถ้าเงินหมด ก็อาจทำให้โฆษณาเราไม่รันได้ - ระบบ Invoice หรือการวางบิล
หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า เครื่องมือเหล่านี้สามารถใช้ระบบ Invoice หรือการวางบิลได้ด้วย แต่ว่าส่วนมากก็จะมีเงื่อนไขหลายแบบที่แตกต่างกันออกไป แน่นอนว่าส่วนมากที่ใช้ก็จำเป็นที่จะต้องเป็นบริษัท อีกทั้งระบบ Invoice นั้นขึ้นอยู่กับแต่ละเครื่องมือด้วยว่ามีความเข้มงวดของการ Apply มากแค่ไหน - ระบบตัดบัตรเครดิต บัตรเดบิต
ซึ่งระบบนี้ค่อนข้างยอดนิยมมากเพราะว่าใคร ๆ ก็สามารถใช้งานได้ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา หรือบริษัท เพียงแค่กรอกเลขบัตรเครดิต บัตรเดบิตลงไป แล้วทำการโฆษณา เมื่อยอดโฆษณาใช้ไประยะหนึ่งก็จะมีการเรียกเก็บนั่นเอง แต่ก็เรียกได้ว่าเป็นอีกวิธีที่หลายคนสงสัยมากที่สุดเช่นกัน เพราะบางทีเงินที่ใช้โฆษณาจริง ไม่ตรงกับยอดที่ตัดบัตร ซึ่งในบทความนี้จะพูดถึง Billing ของการตัดบัตรเครดิตและบัตรเดบิตเท่านั้น
Ad Spent ไม่ได้แปลว่าต้องเท่ากับค่าใช้จ่ายในเดือนนั้น ๆ สำหรับการตัดบัตรเครดิต
ทำความเข้าใจก่อนว่า เมื่อเราเริ่มโฆษณา ไม่ว่าจะโฆษณาไปเท่าไรก็ตาม จำนวนเงินที่เห็นใน Dashboard นั้น คือยอดที่ใช้ในการโฆษณาเท่านั้น ไม่ได้เป็นยอดที่จะตัดบัตรหรือค่าใช้จ่ายจริง และค่าใช้จ่ายไม่ได้ตัดแบบ Real Time หรือในทันทีทันใด ซึ่งบางทีที่เราเห็นยอดโฆษณาในวันนั้น ๆ อาจจะยังไม่มีการคิดเงินในระบบ Billing เลยด้วยซ้ำ ซึ่งการที่เราจะดูว่าค่าใช้จ่ายในขณะนั้นเป็นเท่าไรอย่างไร แนะนำว่าเข้าไปดูที่เมนู ระบบ Billing เลยดีกว่า
หลักการ Billing ของ Facebook Ads และ Google Ads มีตัดตามเมื่อใช้ถึงรอบ (วัน) และเมื่อถึงจำนวนเงินที่กำหนด
หลักการ Billing ของเครื่องมือในการทำ Digital Marketing จะมีความคล้ายคลึงกันเกือบทั้งหมด ในการตัดบัตรจะมีอยู่ 2 แบบด้วยกัน และใช้ร่วมกันทั้ง 2 แบบเลย นั่นคือ
- ตัดบัตรเมื่อใช้ยอดเงินครบตามจำนวนที่ระบบกำหนดไว้
เมื่อเราใช้เงินจนถึงระบบกำหนดไว้ ก็จะทำการตัดบัตรทันที นั่นหมายความว่า ถ้าระบบกำหนด เมื่อมีการใช้เงินครบ 1,000 บาท ก็จะตัดบัตรตามปกติ เป็นยอดจำนวน 1,000 บาท นั่นเอง แต่บอกไว้ก่อนว่ายอดที่ระบบกำหนด เรียกว่า Payment Threshold ซึ่งยอดนี้จะเริ่มต้นจากการที่ให้ยอดน้อย ๆ ก่อน ว่าบัตรเราใช้งานได้จริงไหม บางทีในครั้งแรก ๆ ของการสร้าง Ad Account จะตัดรัว ๆ ในจำนวนเงินที่ต่ำกว่า 100 บาท หลังจากนั้นจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งของทาง Meta Ads (Facebook Ads) จะให้ที่สูงสุด 30,000 บาท ส่วน Google Ads จะให้สูงสุดที่ 50,000 บาท อันนี้เอามาจาก Ad Account ตัวเองเท่านั้น ใครที่ได้ Payment Threshold สูงกว่านี้ ก็มาบอกเล่ากันได้
ซึ่งการที่เราจะดูยอด Payment Threshold สามารถดูได้จากเมนู Billing โดย ของ Meta Ads ดูที่ Ad Account > Billing > Payment Settings ส่วนของ Google Ads > Tools and Settings > Billing > Transaction
- ตัดบัตรเมื่อถึงวันที่กำหนดไว้
แบบที่ 2 นั่นคือการตัดบัตรค่าใช้จ่ายเมื่อถึงวันที่กำหนดไว้ อันนี้คือง่ายมาก ซึ่งการกำหนดวันมาจากทางแพลตฟอร์มนั้น ๆ เช่นถ้าเรากำหนดจ่ายเงินวันที่ 28 ของทุก ๆ เดือน ไม่สนใจว่าจะใช้เงินไปแล้วเท่าไร จะกี่บาทก็ตาม ใช้มากหรือน้อยขนาดไหน (แน่นอนว่าไม่มีทางที่จะมากไปกว่าเกณฑ์วงเงินที่กำหนด) ก็จะตัดบัตรคิดค่าใช้จ่ายตามนั้นที่เหลืออยู่ จึงจะสังเกตได้ว่าการตัดบัตรที่เป็นตามจำนวนวันแบบนี้นั้น ยอดเงินจะเป็นเศษ ไม่ได้เป็นจำนวนเต็ม จะมีเศษสตางค์ติดมาด้วย ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด
ระบบ Billing อย่าแปลกใจถ้าต่อให้คุณหยุดโฆษณาแล้ว แต่ยังมีการตัดบัตรข้ามเดือน ยกตัวอย่าง
อันนี้เราจะยกตัวอย่างจากการใช้งาน ว่าทำไมหลายคนจึงเจอว่าถึงเราจะหยุด Ads ไปแล้วก็จริง แต่ยังมีการตัดบัตรอยู่ และบางทีเป็นการตัดบัตรข้ามเดือนด้วย ซึ่งเราจะจลองสถานการณ์ดังนี้ โดยวางเงื่อนไขบางอย่าง
- Payment Threshold วงเงินที่ระบบกำหนดจะตัดบัตร คือ 10,000 บาท
- วันที่ 28 คือวันที่ครบกำหนดตัดบัตรของทุกเดือน
- เงินที่ใช้ในการโฆษณา ใน Dashboard จำนวน 20,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 1-31 มกราคม 2566
- เป็นการทำโฆษณาแบบไม่มียอดเงินคงค้างมาก่อน
- เดือน กุมภาพันธ์ 2566 ไม่มีการใช้โฆษณาเลย
- ไม่รวม Vat
จากที่แสดงในรูป เส้นสีเขียวหมายถึงระยะเวลาที่เราทำโฆษณา และเราใช้เงินไปเท่าไร ซึ่งในนี้กำหนดไว้ว่าใช้เงินในเดือนมกราคมอย่างเดียว 20,000 บาท แต่เดือนกุมภาพันธ์ไม่มีการใช้ Ads เลย ซึ่งการตัดบัตรของแพลตฟอร์มต่าง ๆ มักจะมีลักษณะดังนี้
- ตัดบัตรครั้งแรก 10,000 บาท เพราะว่าเป็นวงเงินที่ระบบกำหนดไว้ ไม่สนใจว่าจะเป็นวันไหน แต่ในที่นี้การใช้เงินครึ่งหนึ่ง ก็น่าจะเป็นที่ช่วงกลางเดือนของมกราคม นั่นเอง
- ตัดบัตรครั้งที่ 2 เป็นจำนวนเงิน 8,200.50 บาท เนื่องจากครบตามกำหนดวัน ในที่นี่คือทุกวันที่ 28
- ตัดบัตรครั้งที่ 3 จำนวน 1,799.5 บาท ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ เป็นยอดเงินคงค้างจากการใช้งาน Ads 28-31 มกราคม
จะเห็นได้ว่ายอดรวมมันก็คือ 20,000 บาท เท่ากับที่เราใช้จริงนั่นเอง (ไม่รวม Vat) ทำให้หลายคนที่เคยสงสัยว่า ใช้เงินเดือนก่อนหน้าทำไมมาตัดบัตรเอาเดือนถัดไป ช่วยให้ตอบข้อสงสัยเรื่องการเก็บเงินโฆษณาจากทางแพลตฟอร์มต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจน เอาจริง ๆ ถ้านับกันดี ๆ เหมือนทางแพลตฟอร์มให้เครดิตโฆษณากับเราเหมือนกัน ถ้าวางแผนดี ๆ ช่วยชะลอค่าใช้จ่ายโฆษณาไปได้นานหลายวันเลยทีเดียว
ใครที่มีคำถามเกี่ยวกับ Digital Marketing หรือเกี่ยวกับเรื่องอื่น ๆ สามารถ Inbox สอบถามได้ที่ Facebook ของ Digital Break Time คำถามเด็ด ๆ ที่คิดว่ามีประโยชน์จะนำมาเขียนบอกเล่าให้กับคนอื่น ๆ ได้รู้ด้วย
ติดตามเรื่องราว Digital Marketing จาก Digital Break Time ได้ที่
Facebook, Twitter, Line Official Account, Instagram, Spotify, YouTube, Apple Podcast
ธนาคาร เลิศสุดวิชัย x Digital Break Time