Affiliate Ads ใน Shopee Lazada (Affiliate Marketing) เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งของการทำ Digital Marketing ใน Shopee (ช้อปปี้) และ Lazada (ลาซาด้า) หรือในภาษาไทยเรียกกันว่าการโปรโมทผ่านพาร์ทเนอร์หรือตัวแทนนั่นเอง
Affiliate Ads ใน Shopee Lazada ตั้งราคาอย่างไรให้เหมาะสม
- Affiliate Ads ใน Shopee Lazada (Affiliate Marketing) คืออะไร
- ตั้งราคาที่เป็น % ให้เหมาะสมกับราคาสินค้าที่เรารับได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับประเภทสินค้าด้วย
- ตั้งค่าราคาเป็นเฉพาะกลุ่มสินค้า หรือบางสินค้า แทนที่แบบเท่ากันทั้งร้าน หรือ Store Wide
- รอวัดผลหลังจากใช้งานสัก 1 เดือน ว่า ROAS เป็นอย่างไร ยอดขายขึ้นหรือไม่ แล้วค่อยปรับ
- ให้ค่าคอมมิชชันมากไป ROAS ก็จะต่ำ หรือถ้าให้ค่าคอมมิชชันน้อยเกินไป ก็อาจจะขายไม่ออก
Affiliate Ads ใน Shopee Lazada (Affiliate Marketing) คืออะไร
เราต้องมาอธิบายหลักการของ Affiliate Ads หรือ Affiliate Marketing กันก่อนว่าคือการโปรโมทผ่านตัวแทน โดยทางเจ้าของร้านค้า หรือทาง Shopee Lazada เป็นคนกำหนดราคาว่า เมื่อขายสินค้านี้ได้ จะได้รับส่วนแบ่งไปเท่าไร และเมื่อตัวแทนเมื่อขายสินค้าได้สำเร็จ ก็จะได้รับค่าส่วนแบ่งไป ซึ่งจะใช้ลิงก์พิเศษ ที่ทำให้ทราบว่ามาจากการขายของตัวแทนนี้นั่นเอง
ซึ่งการทำ Affiliate Ads หรือ Affiliate Marketing มีมานานแล้ว และก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ แพลตฟอร์มชื่อดังในไทยก็มีหลายเจ้า แต่วันนี้เราจะมาที่ Shopee Lazada เป็นหลัก เพราะว่า หลายคนก็ทำการตลาดบนนี้อยู่แล้ว และ Affiliate Ads ของทั้ง Shopee และ Lazada คือมีพาร์ทเนอร์เป็นจำนวนมาก แถมระบบการ Tracking และการลงโฆษณาก็สามารถทำได้จากหลังบ้านง่าย ๆ ไม่ยุ่งยากด้วย และแอบบอกว่าว่า ROAS ของการทำ Affiliate Ads ค่อนข้างสูงเลยทีเดียว
ทั้งนี้เลยจะมาแชร์เรื่องที่ว่าตั้งราคาอย่างไรดีให้เหมาะสม และ ROAS สูงด้วย ซึ่งอันนี้มาจากประสบการณ์จริงเลยที่ทำ Shopee Ads, Lazada Ads ในส่วนของ Affiliate Marketing
ตั้งราคาที่เป็น % ให้เหมาะสมกับราคาสินค้าที่เรารับได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับประเภทสินค้าด้วย
หลายคนอาจทราบอยู่แล้วว่าการตั้งราคา Affiliate Ads ของทั้ง Shopee และ Lazada จะตั้งเป็น % ของราคาสินค้านั้น ๆ เช่นถ้าเราขายสินค้านี้ 200 บาท เรากำหนดราคา Affiliate อยู่ที่ 10% และเมื่อมีคนแชร์สินค้านี้ออกไปผ่านโปรแกรม Affiliate และขายได้ขึ้นมา เท่ากับเราต้องจ่ายตรงนี้ 20 บาทนั่นเอง
ซึ่งการกำหนดราคานั้น ในครั้งแรก ให้เราดูว่าสินค้าที่เราขายมีราคาเท่าไร ยังไม่พอ เมื่อเราหักราคาขาย ราคาต้นทุน ราคาที่ต้องจ่ายให้กับแพลตฟอร์มแล้ว จะเหลือกำไรเท่าไร เพราะตรงนี้คือจุดสำคัญมาก ๆ ยกเว้นแต่ว่าสินค้าของคุณราคานั้นมีการรวมราคาค่าการตลาดเข้าไปแล้ว (จริง ๆ ควรจะเป็นแบบหลัง เพราะว่าการทำการตลาดเป็นเรื่องที่จำเป็นมาก ๆ การขายสินค้ารวมค่าการตลาดไปแล้วเป็นเรื่องที่สมควรอย่างยิ่ง)
ยังไม่พอ คุณต้องรู้ว่าสินค้าที่คุณขายคืออะไร แน่นอนว่าสินค้าที่มีราคาสูงมาก ๆ อย่างเครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าทำมือ จิวเวลรี่ ของพวกนี้มักจะมีราคาอยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว การกำหนดราคาสัก 3-5% ก็ไม่แปลก และไม่ใช่เรื่องที่ผิดแต่อย่างใด ลองคิดดูว่าสินค้าราคา 10,000 บาท ค่า Affiliate Ads 5% ก็เท่ากับ 500 บาท เข้าไปแล้ว
แต่กลับกันถ้าคุณขายสินค้าอย่างพวกครีม ของใช้ภายในบ้าน สินค้าที่มีราคาน้อย หลักสิบหรือหลักร้อยต้น ๆ การกำหนดราคา 3-5% อาจไม่ตอบโจทย์ หรือไม่ดึงดูดได้ ควรที่จะต้องเพิ่มมากกว่านั้นหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับเราด้วย
แต่อย่าลืมว่าถ้าเป็นสินค้าที่เราควบคุมการผลิตเอง หรือสินค้าที่เราเป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายอย่างถูกต้อง มักจะมีราคาต้นทุนที่ต่ำ และมีโอกาสที่จะทำกำไรได้มากกว่า ต่างกับสินค้าที่เป็นลักษณะรับราคาส่งมาขาย หรือเป็นแค่คนกลาง ก็จะทำกำไรได้น้อยกว่า ซึ่งตรงนี้ก็มีผลต่อการตั้งราคา Affiliate Ads เช่นกัน
ตั้งค่าราคาเป็นเฉพาะกลุ่มสินค้า หรือบางสินค้า แทนที่แบบเท่ากันทั้งร้าน หรือ Store Wide
ในขั้นพื้นฐานแล้ว หลายคนอาจจะตั้งค่า Affiliate Ads เป็นแบบกำหนดราคาไปเลยทั้งร้านให้ราคาเท่ากัน เช่น 10% ทั้งร้าน ซึ่งแน่นอนว่าเป็นวิธีที่ง่าย และสะดวกต่อการจัดการ ถ้าสินค้าในร้านคุณมีไม่เยอะมากใช้วิธีนี้ก็ดีครับ
แต่ในชีวิตจริงไม่ง่ายอย่างนั้น ถ้าคุณมีสินค้าในร้านสัก 100 SKUs หรือเป็นร้อย ๆ ชิ้น หรือแค่หลักยี่สิบชิ้นก็จะให้ราคา Affiliate เท่ากันทั้งหมด ก็ออกจะไม่สมเหตุสมผลใช่ไหม แน่นอนว่าการให้เป็นเฉพาะกลุ่มสินค้า หรือสินค้าบางชนิดก็จะดีกว่า สินค้าบางกลุ่มปรับค่าคอมมิชชัน เยอะหน่อยเพราะขายยาก แต่สินค้าไหนขายดีมาก ๆ อยู่แล้วการปรับเพิ่มค่าคอมมิชชันเล็กน้อยก็ถือว่าเพียงพอแล้ว เพราะถ้าเยอะเกินไป นั่นหมายถึงเราต้องจ่ายค่า Affiliate Ads สูงขึ้นมาก และอาจทำให้ ROAS ลดลงได้ บางทียอดเยอะขายได้มาก แต่หมดไปกับ Affiliate Ads ก็อาจไม่ใช่ทางออกที่ดีใช่ไหมล่ะ
รอวัดผลหลังจากใช้งานสัก 1 เดือน ว่า ROAS เป็นอย่างไร ยอดขายขึ้นหรือไม่ แล้วค่อยปรับ
ทั้ง Shopee และ Lazada ในส่วนของ Seller Center หลังบ้าน จะมีหน้าที่เป็น Dashboard สำหรับ Affiliate Marketing โดยเฉพาะว่า ROAS (Return on ads spend) เป็นอย่างไร มีค่าใช้จ่ายไปเท่าไร และสินค้าที่ขายโดยใช้ Affiliate ขายไปแล้วกี่บาท แยกแต่ละสินค้ามาให้เลย ดังนั้นให้เราวิเคราะห์ว่า แต่ละกลุ่มสินค้า ROAS เป็นเท่าไร อยู่ในจุดที่ยอมรับได้หรือไม่ ถ้าสินค้าไหน ROAS ต่ำ ยอดขายสูง แสดงว่าจะมีค่าใช้จ่าย Affiliate มาก ถ้าซีรียสเรื่อง ROAS อาจปรับ % ให้ลดลง แต่ก็ต้องเข้าใจด้วยว่า ยอดขายก็อาจลดลงด้วยได้
แต่ถ้าสินค้าไหน ROAS สูง แต่ยอดขายต่ำ แสดงว่าสินค้านั้นอาจจะยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก อาจเพิ่ม % ได้อีก หรือสุดท้ายถ้า ROAS ต่ำ ยอดขายก็ต่ำ อันนี้แน่นอนว่าต้องปรับ % ค่าคอมมิชชันเพิ่มเติมให้
ให้ค่าคอมมิชชันมากไป ROAS ก็จะต่ำ หรือถ้าให้ค่าคอมมิชชันน้อยเกินไป ก็อาจจะขายไม่ออก
อย่างที่กล่าวไปว่าลองคิดถึงถ้าเราเป็นคนธรรมดาทั่วไป หรืออินฟลูเอนเซอร์ ก็ต้องมักอยากได้สินค้าที่ได้ค่าคอมมิชชันสูงเป็นธรรมดาอยู่แล้ว นั่นหมายความว่าจะเกิดแรงจูงใจให้คนแชร์สินค้าผ่าน Affiliate Marketing สูงขึ้น แต่ถ้าเราตั้งค่าคอมมิชชันที่สูงเกินไปมาก ROAS ก็จะต่ำ ทำให้การทำ Affiliate ความคุ้มค่าลดลง
แต่กลับกันถ้าเราตั้งค่าคอมมิชชันในระดับที่น้อยมาก พาร์ทเนอร์หรือคนทั่วไปที่ต้องการจะแชร์ลิงก์สินค้าเราก็น้อยตาม จึงเป็นเหตุให้ยอดขายน้อยลงได้ ดังนั้นควรจะหาจุดสมดุลให้พอดีจะดีกว่า
ใครที่มีคำถามเกี่ยวกับ Digital Marketing หรือเกี่ยวกับเรื่องอื่น ๆ สามารถ Inbox สอบถามได้ที่ Facebook ของ Digital Break Time คำถามเด็ด ๆ ที่คิดว่ามีประโยชน์จะนำมาเขียนบอกเล่าให้กับคนอื่น ๆ ได้รู้ด้วย
ติดตามเรื่องราว Digital Marketing จาก Digital Break Time ได้ที่
Facebook, Twitter, Line Official Account, Instagram, Spotify, YouTube, Apple Podcast
ธนาคาร เลิศสุดวิชัย x Digital Break Time