เปิดบริษัท Digital Marketing เรียกว่าเป็นคอนเทนต์ที่สรุปตั้งแต่งานที่เราทำมาของปีนี้เลยก็ว่าได้ ทาง Digital Break Time เองในปี 2024 ก็เรียกได้ว่าทำอะไรใหม่ ๆ พอสมควร ทั้งในการจัดตั้งเป็นบริษัทครั้งแรก และการได้บริการลูกค้าใหม่ ๆ ในส่วนของตลาดที่ไม่เคยทำมาก่อน ทำให้ปี 2024 นี้เป็นปีที่ท้าทายพอสมควร
Recap 2024 ของ Digital Break Time เป็นอย่างไรบ้าง เปิดบริษัท Digital Marketing แล้วเป็นอย่างไรบ้าง
- เปิดสถิติบางส่วนในด้านของ Digital Break Time
- มุมมองด้านการทำคอนเทนต์ค่อย ๆ เปลี่ยนไป จากใช้ Keywords นำ เปลี่ยนมาเป็นคอนเทนต์นำ
- มีบริการการทำวิดีโอสั้น Short Video สำหรับโฆษณาโดยเฉพาะ
- ทางด้านลูกค้า เรียกว่าอยู่กันครบ ใช้บริการต่อเนื่อง และมีลูกค้าใหม่
- เปิดบริษัท Digital Marketing เป็นครั้งแรก ชื่อ moonday agency มูนเดย์ เอเจนซี่
- อยากเริ่มลองทำคอนเทนต์แบบ Short Form ทั้ง Reels, TikTok, YouTube Shorts แต่ก็พูดตามตรง ถ้าเริ่มแล้วก็จะหยุดยาก
- โดยสรุป การ Recap 2024 ของ Digital Break Time เป็นอย่างไรบ้าง
เปิดสถิติบางส่วนในด้านของ Digital Break Time
ในด้านของเว็บไซต์ digitalbreaktime.com
สำหรับเว็บไซต์ของเราคงไม่ได้แคปมา เนื่องจากมีข้อมูลอ่อนไหวมาบ้าง เลยของพิมพ์เป็นข้อความดีกว่า ซึ่งเป็นยอดตั้งแต่ 1 มกราคม 2024 -30 พฤศจิกายน 2024
- มีคนเข้าเว็บไซต์กว่า 90,000 Users
- Page Views กว่า 150,000 Views
- ส่วนมากมาจากช่องทาง Organic (แน่นอนว่าปัจจุบันนี้ยังไม่เคยใช้ Ads เลย)
- ช่องทาง Direct, Referral, Organic Social, Organic Video เติบโตกว่าเดิม
- คนเข้ากว่า 50% มาจาก Desktop (อย่าแปลกใจ เพราะนี่คือเว็บไซต์ให้ข้อมูลการทำงาน ทำให้คนเข้าเว็บไซต์จาก Desktop สูสีกับ Mobile ถ้าเป็นเว็บไซต์อื่นสัดส่วนมือถือมักจะสูงกว่า)
นี่เรียกได้ว่าเป็นข้อมูลบางส่วนที่เปิดเผยได้ จะเห็นได้ว่าเว็บไซต์ Digital Break Time นั้น เน้นทำคอนเทนต์แบบ Organic โดยใช้วิธีการ SEO เลยสามารถทำให้คนเข้าเว็บไซต์มาอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้จะจำนวนไม่มาก เมื่อเทียบกับเว็บไซต์ขนาดใหญ่ หรือเว็บไซต์ Digital Agency ด้วยกันเอง สำหรับเรา ก็คิดว่าพอใจมาก ๆ แล้ว
ในด้าน Podcasts ของ Digital Break Time
นอกเหนือจากเว็บไซต์แล้ว ก็ยังมีฝั่งพอดแคสต์จากทั้งช่องทางอื่น ๆ ซึ่งเราจะเผยแพร่ข้อมูลบางส่วนของ YouTube และ Podbean (Podbean เป็น Host จะนับยอดรวมของ Apple Podcast และ Spotify รวมทั้งแพลตฟอร์มอื่นไปด้วย)
พอดแคสต์ฝั่ง YouTube (1 มกราคม 2024 -30 พฤศจิกายน 2024)
- ยอด Views รวมอยู่ที่ 53,770 Views
- Watch Time อยู่ที่ 3,321 ชั่วโมง
- ค่าเฉลี่ยระยะเวลาในการดู 3:42 นาที
- Traffic Source มาจาก External Traffic สูงสุดที่ 15,283 Views คิดเป็น 28.4% (ซึ่ง External Traffic นับจากเว็บไซต์ภายนอกเช่น เว็บไซต์ digitalbreaktime.com, Google Search, Facebook, Line ฯลฯ)
- Traffic Source รองลงมาคือ YouTube Search 11,342 Views และคิดเป็น 21.1%
ยอดการฟังหรือดู ไม่ได้สูงมากนัก รวมทุกคลิป เกือบทั้งปีอยู่ที่ 53,770 Views แต่จะเห็นว่า Traffic Source นั้น มาลักษณะเดียวกันกับในเว็บไซต์เลยด้วย นั่นคือมาจาก Organic และไปทาง Search เป็นหลัก เรียกว่าผลลัพธ์นี้เป็นที่ยืนยันและประจักษ์ได้เห็นชัดว่า ไม่เพียงแค่เว็บไซต์เท่านั้นที่ทำ SEO ได้ แต่แม้กระทั่ง YouTube เอง ก็ยังต้องทำ SEO ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการทำคอนเทนต์ SEO ที่จะช่วยให้ช่องมียอดวิวโตขึ้น
จริง ๆ ที่เราอยากพัฒนาขึ้นเมื่อดูตัวเลขนี้ นั่นคือ ค่าเฉลี่ยระยะเวลาในการดู 3:42 นาที ส่วนตัวคือว่าน้อยไปหน่อย เพราะคลิปของเรานั้นมักจะมีความยาวระดับ 10 นาทีขึ้น ในอนาคตก็อาจจะพัฒนาคอนเทนต์ให้หลายคนดูหรือฟังได้นานขึ้น
พอดแคสต์ฝั่ง Podbean (รวมทั้ง Apple Podcasts, Spotify)
สำหรับใครที่ยังไม่เคยรู้จัก Podbean มาก่อน Podbean เป็นแอปพลิเคชั่นสำหรับไว้ฟังพอดแคสต์ และยังเป็น Host ต้นทางสำหรับกระจายพอดแคสต์ไปยังแอปอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น Spotify, Apple Podcasts หรือนำไปฝังไว้ในเว็บไซต์เพื่อให้เล่นในเว็บได้เลย แน่นอนว่าทาง Digital Break Time ได้เลือกใช้ Podbean เพราะง่ายต่อการจัดการ และยังมีฝั่งที่เป็น Dashboard สำหรับวิเคราะห์ยอดผู้ฟังได้อีกด้วย (อ่านบทความการทำพอดแคสต์เบื้องต้นได้ที่นี่)
ยอดสถิติต่าง ๆ จาก Podbean (1 มกราคม 2024 -30 พฤศจิกายน 2024)
- ยอดผู้รับฟังอยู่ที่ 10,067 ครั้ง
- แพลตฟอร์มที่มีการรับฟังสูงสุดคือ Apple Podcasts 3,827 ครั้ง คิดเป็น 38.02%
- แพลตฟอร์มที่ 2 คือ Spotify 2,038 ครั้ง คิดเป็น 20.24%
- แพลตฟอร์มที่ 3 คือ Google Chrome 1,310 ครั้ง คิดเป็น 13.01%
- แพลตฟอร์มที่ 4 คือ Podbean App 1,289 ครั้ง คิดเป็น 12.80%
จะเห็นได้ว่ายอดการดาวน์โหลด การฟังนั้นมักจะตกอยู่ที่ 2 แอปใหญ่ในการฟังพอดแคสต์ นั่นคือ Apple Podcast และ Spotify แต่ถ้านับรวมยอดฟังทั้งหมดก็ยังแพ้ YouTube อยู่ดี จริงๆแล้วสถิติดูได้มากกว่านี้ แต่สถิติบางอย่างขอเก็บไว้เป็นความลับบ้าง
มุมมองด้านการทำคอนเทนต์ค่อย ๆ เปลี่ยนไป จากใช้ Keywords นำ เปลี่ยนมาเป็นคอนเทนต์นำ
ต้องบอกเลยว่าสมัยก่อนเล่นแร่แปรธาตุเยอะมาก สายเทคนิค ทำคอนเทนต์แต่ละครั้งเรียกว่าเป็นการคิดคีย์เวิร์ดขึ้นมาก่อน แล้วคอนเทนต์เต็ม ๆ ค่อยมาเติมเต็มทีหลัง แน่นอนว่าทำให้เว็บไซต์เติบโตเร็วในช่วงแรกมาก และทำให้คีย์เวิร์ดของเราติดหน้าแรกได้บ่อย เพราะเราใช้คีย์เวิร์ดนำ วิเคราะห์หลายอย่างว่าจะใช้คีย์เวิร์ดนี้ดีไหม
แต่ในปัจจุบันด้านการทำคอนเทนต์ของเราเปลี่ยนมุมมองไปค่อนข้างมาก เน้นที่คุณภาพของคอนเทนต์มากกว่า โดยในเรื่องแรกที่คิดนั้นคือคอนเทนต์มาก่อน และคอนเทนต์นั้นตอบโจทย์ของกลุ่มเป้าหมายที่เราจะสื่อสารแค่ไหน แล้วพอทำคอนเทนต์ออกมาครบถ้วนแล้วค่อยมาทำคีย์เวิร์ดทีหลังก็มี เช่นการเลือกคีย์เวิร์ดที่เข้ากับคอนเทนต์ได้ นั่นเลยเป็นสาเหตุที่ว่าเราจะค่อนข้างลดคอนเทนต์ How to แบบละเอียดและคอนเทนต์ข่าวออกไป ไม่ได้เน้นความรวดเร็วเหมือนแต่ก่อน แต่จะกลายเป็นคอนเทนต์ที่เน้นคิดวิเคราะห์ การยกตัวอย่างจากประสบการณ์แทน เพราะคอนเทนต์เหล่านี้เรียกว่า AI ก็น่าจะให้ได้ แต่ให้ได้น้อยกว่าจากคนที่ทำจริง (อย่างคอนเทนต์นี้ก็เช่นกันเน้นเรื่องของคอนเทนต์มาก่อน เราอยากเล่าเรื่อง Recap ต่าง ๆ ของปี 2024 ที่ผ่านมาว่าเป็นอย่างไรบ้าง แล้วคีย์เวิร์ดอะไรมาปรับแต่งทีหลังเอา)
ส่วนประเภทของคอนเทนต์นั้นก็ยังคงเน้นเรื่องของ Digital Marketing อยู่เช่นเดิม แต่เสริมเรื่องของ Content Marketing และ eCommerce ให้มากขึ้น และแน่นอนการเล่าเรื่องราวของ Digital Agency ก็ยังคงมีอยู่ ทั้งหมดนี้เรียกว่าเป็น Content Pillar เสาหลักในการทำคอนเทนต์ของ Digital Break Time ก็ได้
มีบริการการทำวิดีโอสั้น Short Video สำหรับโฆษณาโดยเฉพาะ
เป็นปีแรกของ Digital Break Time ที่ได้เพิ่มบริการใหม่อย่างการทำวิดีโอสั้น ไว้ลงใน Facebook Reels, Instagram Reels, TikTok และ Shorts ของ YouTube เพื่อนำมาใช้โฆษณาโดยเฉพาะ เรียกว่าเป็นประสบการณ์ใหม่ของทางแบงก์ก็ว่าได้ ต้องมีการยกกองไปถ่ายทำเพื่อให้ได้คลิปและนำมาโฆษณา เรียกได้ว่าผ่านไปได้ด้วยดี ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง เพราะลูกค้าค่อนข้างพึงพอใจมาก ใช้บริการเรื่อย ๆ เมื่อมีบรีฟใหม่ ๆ ก็จะนึกถึงเราก่อน และผลลัพธ์ในการทำโฆษณานั้นก็ออกมาดีกว่าที่คาด สามารถทำยอดขายผ่านแพลตฟอร์ม eCommerce ได้สูง จริงๆเป็นเพราะหลายปัจจัย แต่การทำ Short Video สำหรับการนำมายิงแอดเพื่อให้เกิดยอดขายจะต่างจากการทำวิดีสั้นเพื่อเรียก Engagement ค่อนข้างมาก เลยคิดว่าทางเราได้เดินทางถูกทางแล้ว และแน่นอนว่าใครต้องการติดต่อให้ทำวิดีโอสั้น เพื่อใช้ในการทำโฆษณาก็สามาถติดต่อได้เช่นกัน
ทางด้านลูกค้า เรียกว่าอยู่กันครบ ใช้บริการต่อเนื่อง และมีลูกค้าใหม่
ในด้านลูกค้าเดิมเรียกว่าอยู่กันครบ ไม่มีใครไปไหน และมีลูกค้าใหม่ในปีนี้ 2 เจ้าเท่านั้น หลายคนอาจจะคิดว่าดูไม่มาก แต่ในความเป็นจริงแล้ว ก็ไม่มากจริง ๆ นั่นแหละ แต่อย่าลืมว่าบริษัทของเรามีขนาดเล็กมาก และเราเรียกว่าเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักที่ทำงานด้าน Digital Marketing ถึงแม้จะมีน้องในทีมช่วยทำคอนเทนต์บ้าง แต่ก็รับลูกค้าได้จำกัด เลยทำให้เรารับลูกค้าใหม่ได้ไม่มากนัก (แต่ใครที่อยากติดต่อเราให้ทำ Digital Marketing ติดต่อได้เลย เรามีเวลาให้คุณลูกค้าเสมอ)
อีกอย่างนั่นคือ เราก็มีพาร์ทเนอร์เอเจนซี่ที่คอยส่งงานมาให้เรื่อย ๆ เพราะอย่างที่หลายคนรู้ว่าแต่และเอเจนซี่นั้นมีความถนัดที่แตกต่างกัน ซึ่งเรามักจะเป็นพาร์ทเนอร์กับครีเอทีฟเอเจนซี่ บริษัทรับทำเว็บไซต์ เพราะลูกค้าหลายรายนั้นมีความต้องการที่มากขึ้น อยากทำ Digital Marketing ด้วย และเอเจนซี่ทั้งขนาดเล็กขนาดใหญ่ที่มองหาบริการส่วนนี้ก็ตามหาคนทำงานด้านนี้เช่นกัน (และแน่นอนว่าใครที่ทำเอเจนซี่อยากมองหาพาร์ทเนอร์ที่ทำ Digital Marketing ได้ ก็ติดต่อได้เช่นกัน)
เปิดบริษัท Digital Marketing เป็นครั้งแรก ชื่อ moonday agency มูนเดย์ เอเจนซี่
ตั้งแต่เดือน เมษายน 2024 เป็นต้นมาทาง Digital Break Time ได้จดทะเบียนบริษัทชื่อว่า moonday agency มูนเดย์ เอเจนซี่ โดยเหตุผลที่จริง ๆ จัดตั้งขึ้นมาเพราะการทำงานในรูปแบบบุคคลนั้นทำให้ภาระทางด้านภาษีสูงขึ้น ซึ่งการทำงานในรูปแบบนิติบุคคลนั้นคล่องตัวกว่ามาก อีกทั้งยังเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับคู่ค้าด้วย
การ เปิดบริษัท Digital Marketing ทำให้เราจำเป็นมาก ๆ ที่ต้องเรียนรู้อะไรหลายอย่าง เพราะจากที่เมื่อก่อนเป็นฟรีแลนซ์ ก็ทำแค่รายรับรายจ่ายส่วนตัวเท่านั้น แต่พอเปิดบริษัท อย่างน้อยก็ต้องดูงบการเงินเป็นบ้าง แยกกระเป๋าเงินของส่วนตัว และบัญชีบริษัทอย่างชัดเจน การรู้เรื่องภาษีต่าง ๆ ในเบื้องต้น และการเก็บเอกสารให้เป็นหมวดหมู่ ก็ถือว่าเป็นการเติบโตไปอีกขั้นหนึ่ง ที่เริ่มจากพนักงานประจำ > ฟรีแลนซ์ > เปิดบริษัท Digital Marketing (ถ้าอยากอ่านประสบการณ์ตั้งแต่เราเป็นฟรีแลนซ์ จนเปิดบริษัท คลิกอ่านได้ที่นี่)
อยากเริ่มลองทำคอนเทนต์แบบ Short Form ทั้ง Reels, TikTok, YouTube Shorts แต่ก็พูดตามตรง ถ้าเริ่มแล้วก็จะหยุดยาก
หลายคนอาจจะมองว่าการทำคลิปสั้น ๆ ไม่ใช่เรื่องใหญ่และไม่ใช่เรื่องยาก แต่สำหรับเราเองนั้น ก็ไม่ได้ยากจริง แต่ว่าเป็นเรื่องของการยืนระยะยาวต่างหาก เพราะถ้าทำแล้ว ก็ต้องทำต่อไปเรื่อง นี่เป็นสิ่งที่เราค่อนข้างกังวลเหมือนกัน เพราะว่างานของเราก็จะมากขึ้น และส่วนมาก เราก็เป็นคนทำเองตัดคลิปเอง ถึงแม้ว่าเราจะ Outsource ได้ก็จริง แต่ในช่วงแรกก็อยากทำเองก่อน ซึ่งก็แน่นอนว่าเป็นการเพิ่มภาระงานให้เราค่อนข้างเยอะอยู่ แต่อาจจะเริ่มลองทำในระยะเวลาอันใกล้นี้โดยจะลงจำนวนคลิปไม่มากต่อเดือน แต่แน่นอนว่าก็ให้ความรู้ด้าน Digital Marketing เป็นหลักเช่นเดิม
โดยสรุป การ Recap 2024 ของ Digital Break Time เป็นอย่างไรบ้าง
ในส่วนของปี 2024 เรียกว่ามีความก้าวหน้าและมีความเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเยอะ ถึงแม้จะเปลี่ยนการเปลี่ยนแปลงแบบช้า ๆ ที่สามารถรับรู้ได้ ไม่ว่าจะเป็นในด้านของเนื้อหา Content ที่เปลี่ยนแปลงไปบ้าง การจัดตั้งบริษัทเพื่อรองรับงาน การมีบริการใหม่อย่างการทำวิดีโอสั้นเพื่อใช้ในการโฆษณา รวมไปถึงการก้าวหน้าในเรื่องของการรับลูกค้ามากขึ้น เป็นส่วนหนึ่งที่ค่อนข้างท้าทายธุรกิจที่ทำด้วยตัวคนเดียวเป็นหลัก โดนทางเราจะยังยึดมั่น รักษาในด้านของความโปร่งใส ความรวดเร็วในการทำงาน รวมไปถึงคุณภาพของงานออกมาให้ดีที่สุดเท่าที่เราทำได้ เป็นกำลังใจให้กับคนที่ทำงานด้านเอเจนซี่ทุกคน เจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก ฟรีแลนซ์ และคนที่เพิ่งเริ่มก่อตั้งเอเจนซี่ด้วยครับ
ติดตามเรื่องราว Digital Marketing จาก Digital Break Time ได้ที่
Facebook, X, Line Official Account, Instagram, Spotify, YouTube, Apple Podcast
ธนาคาร เลิศสุดวิชัย x Digital Break Time