เปิดบริษัท Digital Agency เรียกได้ว่าเป็นระยะเวลาเกือบ 10 ปีที่เดินทางสายงานในด้าน Digital Marketing จนกระทั่งเมื่อเดือนเมษายน 2567 ที่ผ่านมานั้นทาง Digital Break Time นั้น ได้เปลี่ยนจากฟรีแลนซ์มาเป็นจัดตั้งบริษัทอย่างเต็มตัว เนื่องจากด้วยสมควรแก่เวลา และแน่นอนว่ารายได้มากขึ้น การจัดการในรูปแบบบริษัทนั้นค่อนข้างสะดวกมากกว่า ถึงแม้จะมีเรื่องเอกสารมากขึ้นก็ตาม
แต่อย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่าเปิดบริษัทใหญ่โต มีออฟฟิศสวย ๆ มีลูกน้องเยอะ ๆ บอกเลยว่าไม่ใช่ ยังคงคอนเซ็ปต์ที่เน้นเรื่องของ Solopreneur หรือเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้วยตัวคนเดียวเป็นหลัก งานส่วนมากก็ยังคงทำเอง แต่ใช่ว่าจะทำเองคนเดียวทั้งหมด ทางเราก็ยังมีทีมแบบหลวม ๆ ที่รวมตัวกันแบบเฉพาะกิจ ที่ทำให้งานแต่ละโปรเจ็คต์สำเร็จลุล่วงไปได้ โดยใช้เงินลงทุนไม่ได้มาก เน้นทำงานอย่างสนุกสนาน และพอมีกำไรบ้าง ก็เท่านี้ก็พึงพอใจแล้ว ซึ่งกว่าจะมาถึงวันนี้ก็เรียกว่ามากกว่าความคาดหวังไว้มากเลยทีเดียว
แชร์ประสบการณ์ เริ่มต้นจากการเป็นฟรีแลนซ์ Digital Marketing จนมาถึง เปิดบริษัท Digital Agency
- จุดเริ่มต้นจากสาย Content Marketing แล้วสนใจงานด้าน Digital Marketing
- เข้าสู่วงการ Digital Marketing ด้วยการทำงานใน Digital Agency
- จุดที่ต้องจากลางานประจำ เริ่มจากการลาออกมาเป็นฟรีแลนซ์เกือบ 2 ปี
- เติบโตจากฟรีแลนซ์จนกระทั่ง เปิดบริษัท Digital Agency
- สิ่งที่คิดว่าจะทำให้เราเติบโตในฐานะคนทำ Digital Marketing และมาถึงจุดนี้ได้
- ฝากอะไรทิ้งท้ายกับคนที่กำลังเริ่มธุรกิจของตัวเองในสายงาน Digital Marketing หรือสายงานอื่น
จุดเริ่มต้นจากสาย Content Marketing แล้วสนใจงานด้าน Digital Marketing

จริง ๆ จุดเริ่มต้นของผู้เขียนเอง เริ่มมาจากงานเขียนในคอลัมน์นิตยสารมือถือฉบับหนึ่ง ซึ่งตอนนั้นเรียนจบในสายภาษา (ซึ่งไม่ได้มีจุดเริ่มต้นเกี่ยวกับการตลาดใด ๆ เลย) ได้เขียนรีวิวมือถือ เกมบนมือถือ แล้วก็ตอบคำถามในนิตยสารบ้างนิดหน่อย ทำได้ประมาณสักพักหนึ่งเลยตระหนักได้ว่า นิตยสารความนิยมนั้นลดลงเรื่อย ๆ เลยทำให้เราคิดว่าจะเปลี่ยนงาน ไปยังสายที่ยังเป็นงานเขียนอยู่ แต่มุ่งเน้นงานเขียนบนเว็บไซต์แทน
โดยเราได้ย้ายงานมายังที่ต่อมา นั่นคือเว็บไซต์รีวิวมือถือชื่อดัง ต้องเรียกได้ว่าเราได้วิธีการเขียน SEO เบื้องต้นก็จากที่นี่ ได้ทำความรู้จักว่า SEO คืออะไร ต้องเขียนอย่างไรถึงจะช่วยให้ตอบโจทย์คนอ่านได้ เป็นการเปิดประสบการณ์ที่แตกต่างจากที่แรกพอสมควร เพราะวิธีการเขียนในนิตยสารและในเว็บไซต์นั้นแตกต่างกัน
เรียกว่าทั้ง 2 ที่นี้เราได้ทำงานในสายของ Content เป็นการปูพื้นฐานทำให้งานเขียนของเราแข็งแกร่งขึ้น สามารถทำงานเขียนได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นงานเขียนแบบรีวิว การเขียนแบบ Copy สำหรับพาดหัว การตัดคำต่าง ๆ และการเขียนงานเพื่อให้ตอบโจทย์ SEO เรียกว่าเป็นประสบการณ์การทำงานที่คุ้มค่ามาก ๆเลยทีเดียว
เข้าสู่วงการ Digital Marketing ด้วยการทำงานใน Digital Agency
จากนั้นเข้าสู่ช่วงที่เริ่มอิ่มตัวกับงานเขียนรีวิวมือถือต่าง ๆ เลยได้งานที่ใหม่ นั่นคือ Digital Agency แต่ในช่วงแรกเป็นการทำงานในสายของ Content Marketing คือเขียนคอนเทนต์ต่าง ๆ บน Facebook รวมไปถึงงานเขียนในเว็บไซต์ แต่เมื่อทำงานสาย Content Marketing ไปมา ทาง Digital Agency นั้นมีการจัดอบรมในเรื่องของ Digital Marketing ในเบื้องต้น เช่นการอ่านค่า Metrics ต่าง ๆ แล้วก็พื้นฐานของ Digital Marketing ซึ่งต้องเรียกได้ว่าเราสามารถเข้าใจได้ และค่อนข้างกระหายความรู้ในเรื่องของ Digital Marketing เลยทำให้เจ้าของ Digital Agency ที่นั้น ได้มอบหมายโดยการปรับตำแหน่งผู้เขียนเองทำในตำแหน่ง Digital Marketer ซึ่งแน่นอนว่ายังคงการทำงานในฝั่งของ Content Marketing และ Digital Marketing ไปควบคู่กัน
เมื่อทั้งสองอย่างหลอมรวมกัน ทำให้เราเองนั้น เป็นคนที่มีประสบการณ์ในด้านของ Content งานเขียน ผสานกันงานด้าน Digital Marketing ทำให้เราสามารถถ่ายทอดงานด้านทาง Digital Marketing ออกมาเป็นงานเขียนได้ ทำให้เราได้ทักษะที่น่าจะตรงความต้องการตลาด และใน Digital Agency แห่งนั้นเอง ก็ได้เปิดคอร์สสอนเรื่อง Digital Marketing แน่นอนว่าเราก็เป็นคนที่เตรียมสไลด์ และได้สอนจริง ทักษะงานสอนและการทำพรีเซ็นต์ก็ช่วยให้เราเป็นเราในวันนี้ ช่วงนั้นเรียกได้ว่างานชุกพอสมควร
ต่อมาเราก็ลาออกจาก Digital Agency ในที่แรก และในช่วงที่หางานใหม่อยู่นั้น เราก็ได้ลองทำเว็บไซต์ Digital Break Time ขึ้นมา เพื่อให้ตัวเองเหมือนรู้สึกยังได้ทำงานอยู่ เลยมีการเผยแพร่คอนเทนต์ไปบางส่วนเรื่อย ๆ ซึ่งในตอนแรกนั้นไม่ได้คิดเลยว่าเว็บไซต์นี้จะหารายได้ให้เราได้ จุดประสงค์มีเพียงต้องการเผยแพร่ความรู้ในด้าน Digital Marketing เท่านั้น
ต่อมาเราก็ย้ายงานอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้ย้ายมาในตำแหน่ง Digital Marketing Manager ใน Digital Agency ของ ญี่ปุ่นเจ้าหนึ่ง ซึ่งเรียกได้ว่าเปิดประสบการณ์ที่แตกต่างจากเอเจนซี่ไทยค่อนข้างมาก ได้พบกับลูกค้าแบรนด์ญี่ปุ่นหลายเจ้า และได้ทำงานกับคนญี่ปุ่น และบางอย่างก็มีการทำ Digital Marketing ในสไตล์ญี่ปุ่นด้วย และที่สำคัญการที่เราได้รับตำแหน่ง Manager ครั้งแรก ก็ต้องมีการบริหารคน ซึ่งสำหรับเราเป็นเรื่องที่ใหม่มาก แต่ก็ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี
จุดที่ต้องจากลางานประจำ เริ่มจากการลาออกมาเป็นฟรีแลนซ์เกือบ 2 ปี

ต้องบอกเลยว่าในระช่วงที่เราทำงานประจำอยู่ เว็บไซต์ Digital Break Time ก็ได้ทำเป็นงานอดิเรกมาเรื่อย ๆ เรียกได้ว่า Traffic เข้าเว็บไซต์ค่อนข้างสูง เพราะด้วยใช้วิธีการเขียนแบบ SEO ด้วย และหลังจากนั้นสร้างเว็บไซต์ Digital Break Time ราว ๆ1 ปี ก็มีลูกค้ารายแรกที่ติดต่อมาให้เราทำ Digital Marketing ให้ในนามฟรีแลนซ์ โดยเรารับเป็นงานเสริม เพื่อให้ควบคู่กับงานหลัก
ในช่วงที่รับงานเสริม เราก็ไม่ได้คิดจริงจังว่าจะกลายมาเป็นงานหลักได้ แต่เราก็ทำเต็มที่ โดยแจ้งลูกค้าที่ต้องการจ้างเราเป็นฟรีแลนซ์ก่อนว่า เราทำงานประจำ แน่นอนว่าติดต่อทางข้อความได้แต่อาจจะไม่ได้สะดวกตอบทุกเวลา โดยงานเราจะทำนอกเวลาจากงานหลัก เพื่อไม่ให้กระทบกับงานหลักนั่นเอง และการประชุมมีตติ้งรีพอร์ทต่าง ๆ จะเกิดขึ้นในวันเสาร์และอาทิตย์เท่านั้น จากนั้นก็มีลูกค้าที่มาจากเว็บไซต์เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ รวมไปถึงลูกค้าที่บอกปากต่อปากจำนวนลูกค้าก็มีมากขึ้น ลูกค้าเก่าก็ทำต่อ ลูกค้าใหม่ก็มาเรื่อย ๆ ซึ่งเราได้ทำงานเสริมมาเป็นระยะเวลา 1 ปีกว่า ๆ ซึ่งในช่วงเวลานั้นเองต้องบอกเวลาเราทำงานเกือบตลอด 7 วัน รวมไปถึงการกลับมาจากงานหลัก ถึงบ้านก็ทำงานเสริมต่อ เป็นอย่างนี้เรื่อยมา
ซึ่งเมื่อถึงจุดหนึ่งที่เราคิดได้ว่า นี่เป็นจุดที่เราควรจะต้องลาออกเพื่อไปทำงาน Digital Marketing เต็มตัวแล้วดีไหมนะ เพราะว่าในตอนนั้นที่เราคิดอยู่ เรามีงานเสริมอยู่ที่ 5 เจ้า (ซึ่งมาจากเว็บไซต์และปากต่อปากนี่แหละ) แล้วมีแนวโน้มเติบโตเรื่อย ๆ ซึ่งลูกค้าเจ้าเก่าก็ไม่ได้มีการยกเลิก ลูกค้าใหม่ก็เข้ามา เมื่อรวมรายได้จากงานเสริมในตอนนั้น มากกว่างานประจำถึง 2 เท่า ซึ่งเราได้คิดเป็นอย่างดีแล้วว่าในเมื่อลูกค้ามีแนวโน้มเติบโตขึ้น และการรับงานก็ค่อนข้างคงที่ ไม่ได้ขึ้นขึ้น ๆ ลง ๆ เลยตัดสินใจลาออกจากงานประจำมาช่วงปลายปี 2022 เพื่อมาเป็นฟรีแลนซ์เต็มตัว เพื่อจะได้มีเวลาเพิ่มคุณภาพในการทำงาน โฟกัสกับลูกค้าที่มีอยู่ แล้วก็การทำคอนเทนต์บนเว็บไซต์ก็สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง มีจำนวนมากขึ้น มีคุณภาพ มีความหลากหลาย และได้เพิ่มช่องทาง Podcast ขึ้นมาด้วย
เติบโตจากฟรีแลนซ์จนกระทั่ง เปิดบริษัท Digital Agency
ทางเราเองได้เป็นฟรีแลนซ์ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2022 และได้ดูแลลูกค้าที่ต้องการทำ Digital Marketing มาเรื่อย ๆ ซึ่งลูกค้าส่วนมากก็ต่อสัญญา ทำต่อมาเรื่อย ๆ และมีลูกค้าใหม่ที่ติดต่อมา ในช่วงนั้นเราก็รับงานในนามส่วนตัว แต่ปกติแล้วเราได้ทำบัญชีเบื้องต้น (จริงๆ ไม่อยากใช้ว่าทำบัญชี แต่เป็นรายรับรายจ่าย) แยกกระเป๋าตัวเองกับเงินที่ไว้ทำธุรกิจได้อย่างชัดเจน พอรู้รายรับในเบื้องต้น เราก็จะสามารถพยากรณ์รายรับล่วงหน้าได้ ซึ่งปีนี้เลยน่าจะเป็นปีที่เหมาะสมกับการจัดตั้งบริษัท ซึ่งก็ต้องมาทำเรื่องเอกสาร แต่อย่างที่บอกไปว่าการจัดตั้งบริษัทนั้น เราจะเน้นเป็นการทำบริษัทด้วยตัวคนเดียวเป็นหลัก งานหลัก ๆ เรายังเป็นคนทำเอง และยังไม่ได้มีพนักงานแต่อย่างใด เอาจริง ๆ ตัวผู้เขียนเองก็ไม่นึกไม่ฝันว่าจะมีวันนี้เหมือนกัน ซึ่งการจดบริษัทเป็นการเติบโตไปอีกขั้นหนึ่งเท่านั้น การเปลี่ยนแปลงย่อมเป็นเรื่องที่เราต้องยอมรับ
สิ่งที่คิดว่าจะทำให้เราเติบโตในฐานะคนทำ Digital Marketing และมาถึงจุดนี้ได้

พูดตรง ๆ บางทีผู้เขียนเองก็ไม่ได้นึกหรอกว่าจะมาถึงจุดนี้ อาจจะมีความโชคดีหลาย ๆ อย่าง หรือเป็นเรื่องของจังหวะเวลา รวมไปถึงทักษะและประสบการณ์ที่เรามี ที่ช่วยแก้ไขปัญหาให้ลูกค้าได้ ทั้งหมดนี้ก็ถือว่าเป็นหลายอย่างที่ทำให้เราได้เดินมาถึงวันนี้ แต่สิ่งที่เรารวบรวมมา และเราสามาถควบคุมได้บางส่วน ก็คิดว่าน่าจะเป็นสิ่งเหล่านี้
1. ความรับผิดชอบ และความตรงต่อเวลา
เราค่อนข้างจริงจังกับงานของตัวเองพอสมควร เมื่อเราได้รับมอบหมายโปรเจ็คมาแล้ว เราก็จะพยายามอย่างเต็มที่ในฐานะคนที่ทำ Digital Marketing ว่าจำเป็นต้องทำอะไรบ้าง ในการวางแผน และลงมือทำ เวลาที่เราใช้เงินของลูกค้าทำโฆษณา เราก็นึกเสมือนว่านี่ก็เหมือนเงินของเราเอง เราจะปรับแก้ตรงไหนได้บ้างที่ให้ผลลัพธ์คุ้มค่ากับการลงทุนในด้าน Digital Marketing จุดประสงค์ที่เราทำตอบโจทย์กับลูกค้าหรือไม่
และในเรื่องของการตรงต่อเวลา ไม่ว่าจะเป็นการลงแคมเปญ วันที่ต้องลงโฆษณาเพื่อให้ตรงโปรโมชันของลูกค้า การคุยให้เคลียร์ว่าจะทำเว็บไซต์ใช้เวลาเท่าไร และการนัดประชุมเพื่อรายงานผล การที่เราจะไปสายมีน้อยมาก ๆ เพราะเราวางแผนก่อนแล้วว่าจะต้องใช้เวลาประมาณเท่าไร แน่นอนว่าอาจจะมีอุบัติเหตุบางอย่างที่ทำให้เรื่องของเวลาไม่สามารถทำตามได้ก็จริง แต่ถ้าเราพลาดเรื่องเวลาน้อย แน่นอนว่าลูกค้าก็จะมองเราว่าเรามีความน่าเชื่อถือมากขึ้น
2. รู้ว่ากลุ่มลูกค้าเราคือใคร และทำ Marketing เพื่อต่อยอด ตอบสนองกลุ่มลูกค้าของเรา รวมไปถึงคอนเน็คชัน

ในช่วงเวลาที่เราทำงานประจำอยู่ และทำงานเสริมไปด้วยนั้น เราก็ยังไม่ได้คิดในทันทีว่าลูกค้าเราจริง ๆ คือใครกันแน่ แต่พอได้รับงานเสริมมาเรื่อย ๆ เราก็จะเห็น Customer Personas จากการที่เราทำงานจริง ว่าลูกค้าของเราจริง ๆ แล้วเป็นใครกัน มีบางสิ่งบางอย่างร่วมกัน ทำให้เราวิเคราะห์ได้ว่าคนที่จ้างเรานั้นต้องการอะไรเป็นพิเศษ มีความต้องการแบบไหน มี Pain Point แบบใดกันแน่ ซึ่งแน่นอนว่าการสอบถามจากลูกค้าของเราโดยตรง ก็จะได้ข้อมูลที่เป็นจริงมาก ซึ่งต่างจากการวางแผน Customer Personas ก่อนเริ่มธุรกิจ ที่มักจะเป็นการคาดการณ์ ไม่ได้มาจากลูกค้าจริง ๆ
ทำให้เราตกผลึกว่าลูกค้าของเราจริง ๆ คือใคร และสิ่งที่ตามมานั่นคือการที่เราทำ Content Marketing เพื่อตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มนี้ คุณจะเห็นได้ว่าเว็บไซต์ Digital Break Time นั้น เป็นเว็บไซต์ที่มีแนวทางชัดเจน พูดในเรื่อง Digital Marketing ในระดับที่ภาพรวมเป็นหลัก และประสบการณ์ทำงานที่ได้ทำมา ผลัพธ์เป็นอย่างไร แต่จะไม่แหวกแนวไปมากกว่านี้ จะไม่ค่อยมีข่าว หรืออาจจะมีหลุด How to มาบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ก็ไม่ใช้ฮาวทูแบบละเอียดที่ต้องทำตามหรือสอนเป๊ะ ๆ (คือเราไม่ได้เปิดคอร์สสอนเป็นเรื่องเป็นราว นาน ๆ ทีมีสอน แต่จะสอนกับคนที่เริ่มต้นเท่านั้น) หรือก็ไม่ได้เฉพาะเจาะจงมาก ๆ เพื่อเน้นในเรื่องของตัวเลขมากเกินไป ทั้งหมดนี้มีเหตุผล เพื่อให้คอนเทนต์ของเราตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายที่เราวางไว้นั่นเอง
ส่วนเรื่องของคอนเน็คชันนั้น เรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่เหนือความคาดหมายพอสมควร เราไม่ใช่คนดังหรือมีชื่อเสียงในด้านนี้มากนัก ในช่วงที่เรารับงานเสริมแรก ๆ เราน่าจะทำงานได้ดี มีความรับผิดชอบ และเห็นผลลัพธ์พอสมควร ลูกค้าเลยแนะนำให้กับเจ้าของธุรกิจคนอื่น ๆ ที่อยู่ในแวดวงธุรกิจใกล้เคียงกัน ทำให้เราได้รับโอกาสเรื่อยมา
3. การเตรียมพร้อมก่อนลาออกจากงาน ได้ลองสนามจริง งานเสริมเป็นปี ถึงจะลาออกมาเป็นฟรีแลนซ์
ในช่วงที่ก่อนที่เราจะลาออกจากงานประจำนั้น เราก็ทำงานเสริมไปด้วยเรื่อย ๆ โดยเต็มที่กับทั้งสองงาน ไม่อยากให้เพื่อนร่วมงานหรือเจ้านายมาว่าเราเอาได้ เราก็แยกเวลาทำงานกันชัดเจนมาก ๆ งานเวลาปกติก็ทำช่วง 09.00-18.00 น. ในวันธรรมดา ส่วนงานเสริมนั้น เราก็ทำช่วง 20.00-23.00 น. ของแต่ละวัน รวมไปถึงวันเสาร์อาทิตย์ที่ลูกค้างานเสริมจะนัดมีตติ้งกันด้วย ซึ่งในช่วงนั้นเราทำงานแทบจะลืมวันลืมคืน เป็นช่วงที่เหนื่อยมาก ๆ แต่ทุกงานก็สอนให้เราแข็งแกร่งขึ้น ว่างานเสริมเป็นไปแนวทางนี้จะเป็นอย่างไร
จนกระทั่งปีก่อนที่เราจะตัดสินใจลาออกจากงานสองเดือนก่อนหน้า เพราะด้วยความรู้สึกที่ล้า และมาดูว่างานเสริมและงานหลักเราเป้นอย่างไร ช่วงนั้นเองงานเสริมทำรายได้มากกว่าเงินเดือนจากงานประจำถึง 2 เท่า และคงที่มาประมาณ 6 เดือน ดูจากรายได้ของงานเสริมมีแนวโน้มเติมโตได้ จึงทำให้เราต้องตัดสินใจ แน่นอนว่าเป็นเรื่องที่ยาก แต่เราก็ได้เลือกลาออกมาเป็นฟรีแลนซ์ โดยจะลงแรงเกี่ยวกับคอนเทนต์มากขึ้น เพื่อหาลูกค้ามาเติมจากค่าเสียโอกาสที่เราลาออกจากงานประจำมา และได้มีเวลาดูแลลูกค้าของเราเองมากขึ้น เรียกว่าตอนนั้นก็กล้า ๆ กลัว ๆ เป็นช่วงที่ตัดสินใจยากที่สุดในชีวิตครั้งหนึ่งเลยทีเดียว แต่ตอนนั้นก็คิดว่า ถ้าเราไม่ลองสักครั้ง แล้วเมื่อไรจะได้ทำ อาจจะไม่มีโอกาสนั้นอีกแล้วก็เป็นได้
4. การบริหารเรื่องของเงินและทรัพยากรในการเริ่มทำธุรกิจ

เรื่องเงินนับว่าเป็นเรื่องใหญ่ ต้องบอกเลยว่าในช่วงแรกที่เรามีรายได้เสริมกับงานประจำทำไปด้วยนั้น เงินก็เป็นเงินส่วนตัวทั้งหมด ก็ใช้และเก็บตามปกติ แต่เมื่อเราได้อ่านคอนเทนต์ที่เป็นประโยชน์จากหลายแหล่ง ก็ทำให้เรารู้ว่า ถ้าเราต้องการจะจริงจังเราก็ต้องแยกกระเป๋าส่วนตัวออกมากับธุรกิจ ซึ่งเรานั้นจะมีบัญชีแยกไว้ต่างหาก ไว้สำหรับใช้ในเรื่องงานเสริม ซึ่งตอนนั้นยังทำงานประจำไปด้วย ซึ่งเงินที่เราเก็บไว้ใช้กับธุรกิจ ในช่วงแรกจะใช้ไปกับการซื้อพวกโปรแกรม หรือของที่จำเป็นต้องใช้ในงานจริง ๆ เช่นการใช้ iCloud เพื่อเก็บไฟล์ขนาดใหญ่ หรือค่าใช้จ่ายไมค์โครโฟนเพื่อทำ Podcast รวมไปถึงค่าจ้างบางส่วนในการจ้างฟรีแลนซ์ ซึ่งกระเป๋าในการเก็บเงินส่วนนี้ก็ได้ทำหน้าที่เกี่ยวกับธุรกิจจริง ๆ ซึ่งจะแยกจากบัญชีส่วนตัวเลย เลยทำให้เมื่อเราต้องใช้เงินกับธุรกิจ เราก็จะมีเงินในทันที
และเงินตรงนี้ก็ค่อย ๆ เพิ่มพูนขึ้นเรื่อย ๆ (เนื่องจากค่าใช้จ่ายในธุรกิจเราค่อนข้างน้อย ยกเว้นเงินเดือนตัวเอง ที่เยอะพอสมควร เพราะเราถือว่าเราเป็นคนลงมือ ลงสมอง ลงแรง สมควรที่จะได้รับค่าตอบแทนสูง ๆ) เมื่อถึงเวลาที่เราต้องเปิดบริษัท เราก็สามารถนำเงินตรงนี้มาชำระทุนบริษัทบางส่วนได้เลย โดยนำเงินตรงนี้มาหมุนเวียนใช้ในกิจการเบื้องต้น ทำให้เราไม่ต้องใช้เงินส่วนตัวของตัวเองเลย เนื่องจากเงินตรงนี้มีหน้าที่เพื่อใช้ในธุรกิจอยู่แล้ว
ส่วนเรื่องของการบริการทรัพยากรอื่น ๆ โดยเฉพาะเรื่องงาน แน่นอนว่าถึงเราจะเน้นทำธุรกิจคนเดียว แต่เราไม่จำเป็นต้องทำคนเดียวทั้งหมด เราสามารถจ้างคนรู้จักที่เราเคยร่วมงานด้วย ผลงานเป็นที่ประจักษ์ มาร่วมทีมกับเราเป็นฟรีแลนซ์กลุ่มเล็ก ๆ ได้ ทุกคนต่างมีหน้าที่ที่ต่างกันออกไป ทำในแต่ละสิ่งที่ตัวเองถนัด ช่วยทำให้งานเดินหน้าไปได้ด้วยดี
ฝากอะไรทิ้งท้ายกับคนที่กำลังเริ่มธุรกิจของตัวเองในสายงาน Digital Marketing หรือสายงานอื่น
หลายคนอาจมีความหวัง ความฝัน ที่ต้องการทำธุรกิจของตัวเอง เราเองอาจไม่สามารถแนะนำอะไรได้ทั้งหมด เพราะประสบการณ์นี้เป็นประสบการณ์ส่วนตัว ซึ่งเราเริ่มจากสิ่งเล็ก ๆ ก่อนเสมอ เนื่องจากเรามีทุนทรัพย์เรื่องเงินไม่มากนัก เป็นพนักงานประจำมาก่อน จากนั้นก็ลองรับงานเสริม โดยในช่วงแรกเป็นช่วงวัดใจที่ต้องทำงานแบบแทบจะไม่มีวันหยุด เพื่อให้ทั้งงานประจำและงานเสริมออกมาได้ด้วยดีทั้งคู่ จนกระทั่งถึงจุดทางแยกว่าจะลาออกมาเพื่อทำเป็นฟรีแลนซ์เต็มตัวดีไหม และได้เลือกการเป็นฟรีแลนซ์เพื่อดูแลลูกค้า และได้มีเวลาในการโฟกัสธุรกิจของตัวเองมากขึ้น จนกระทั่งปัจจุบัน จดบริษัทเป็นของตัวเอง moonday agency (มูนเดย์ เอเจนซี่) เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต
อย่างน้อยประสบการณ์นี้อาจจะทำให้หลายคนที่มีความฝันที่กำลังจะเริ่มธุรกิจเป็นของตัวเอง มีกำลังใจก้าวเดินต่อไป ไม่ว่าหนทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ทางผู้เขียนเองเป็นกำลังใจให้เสมอ หากมีอะไร ต้องการคำแนะนำต่าง ๆ ก็สามารถส่งข้อความสอบถามเพิ่มเติมได้
ติดตามเรื่องราว Digital Marketing จาก Digital Break Time ได้ที่
Facebook, X, Line Official Account, Instagram, Spotify, YouTube, Apple Podcast
ธนาคาร เลิศสุดวิชัย x Digital Break Time