ทำ Podcast พอดแคสต์ คืออะไร จะเริ่มต้นอย่างไรดี สำหรับการทำ Podcast พอดแคสต์ การเริ่มต้นดูเหมือนจะเป็นเรื่องยากสำหรับผู้ที่พูดไม่เก่ง แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่เลย ใคร ๆ ก็สามารถเริ่มทำ Podcast พอดแคสต์ ได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องพึ่งทีมใหญ่ ๆ เลยด้วยซ้ำใช้คนไม่มากด้วย
ซึ่งในบทความนี้ทาง Digital Break Time ได้รวบรวมประสบการณ์จากการทำ Podcast พอดแคสต์ มาด้วยตัวเอง ทั้งหมดนี้ใช้คนเพียง 1 คนเท่านั้น (ซึ่งก็คือตัวผู้เขียนเองนี่แหละ) ว่าจะเริ่มทำ Podcast อย่างไรดี ต้องมีอุปกรณ์อะไรบ้าง ถึงจะทำได้ตั้งแต่ต้นจนจบ
Podcast พอดแคสต์ คืออะไร เริ่มต้นอย่างไรดี
- Podcast พอดแคสต์ คืออะไร
- ทำ Podcast พอดแคสต์ จะเริ่มต้นอย่างไรดี ต้องมีอะไรบ้าง
- 1. เริ่มจากการต้องมีสคริปต์หรือเนื้อเรื่องที่จะเล่าก่อน
- 2. ใช้อุปกรณ์อัดเสียงแบบง่าย ๆ ใช้ซอฟต์แวร์ที่มีอยู่แล้วในการตัดต่อเสียง ช่วงแรกไม่ต้องลงทุนมาก
- 3. เลือกแพลตฟอร์มลง ทำ Podcast พอดแคสต์ ให้ดี
- 4. วัดผลว่ามีการเติบโตของคนฟังมากน้อยแค่ไหน
- สรุป ทำ Podcast พอดแคสต์ คืออะไร เริ่มต้นยังไงดี ต้องมีอะไรบ้าง ควรทำดีไหม
Podcast พอดแคสต์ คืออะไร
ความหมายของ Podcast พอดแคสต์ คือข้อความเสียงรูปแบบไฟล์ดิจิทัลประเภทหนึ่ง ซึ่งสามารถดาวน์โหลด หรือสตรีมมิ่งได้จากเครือข่ายอินเทอร์เน็ต จะผ่านแพลตฟอร์มหรือไม่ก็ได้ ซึ่งหลายแพลตฟอร์มรวมทั้งแอปพลิเคชันมีการให้บริการพอดแคสต์ เพื่อไว้ดาวน์โหลดรับฟัง เมื่อไรก็ได้ ผ่านอุปกรณ์ที่สะดวก
ทำ Podcast พอดแคสต์ จะเริ่มต้นอย่างไรดี ต้องมีอะไรบ้าง
สิ่งสำคัญของการทำ Podcast พอดแคสต์ ไม่ใช่อุปกรณ์ใด ๆ แต่ต้องคิดไว้เสมอว่าเป็นสิ่งที่เราอยากทำใช่หรือไม่ และพอดแคสต์ที่เราทำจะเป็นเรื่องราวแบบไหนมากกว่า เพราะการทำพอดแคสต์ต้องมีความสม่ำเสมอ ดังนั้นถ้าทำไปสักระยะแล้วไม่เวิร์คเรื่องคนฟังจริง ๆ แต่ถ้าทำเอาสนุกก็ยังพอทำต่อไปได้ แต่ถ้าหมดใจแล้วก็ยาก
1. เริ่มจากการต้องมีสคริปต์หรือเนื้อเรื่องที่จะเล่าก่อน

สิ่งแรกที่ควรจะต้องมี นั่นคือสคริปต์ แบบที่ง่ายที่สุดว่าเราจะเล่าถึงอะไร หัวข้อมีอะไรบ้าง จริง ๆ ไม่ต้องถึงขนาดต้องจัดเต็มว่าจะพูดอะไรบ้าง แค่หัวข้อใหญ่ ๆ ก็เพียงพอแล้ว ข้อดีของสคริปต์ทำให้เราเล่าเรื่องได้อย่างตรงประเด็น ไม่มีหลงทาง ไม่ได้พูดไปเรื่อย ถ้าใครแม่นเรื่องสคริปต์มาก ๆ อาจจะถึงขนาดจำกัดเวลาได้เลยทีเดียวว่าควรจะจบได้ที่นาทีที่เท่าไร
แต่สำหรับ Digital Break Time และตัวผู้เขียนเอง มักจะมีสคริปต์อยู่แล้วนั่นคือบทความที่เราเขียนออกมา แต่ใช่ว่าเราจะพูดทุกอย่างตามตัวอักษรทั้งหมด (ถ้าทำแบบนั้นให้บอทหรือ Siri อ่านให้ฟังก็ได้) แต่เราก็มีแทรกข้อมูลเล็ก ๆ น้อย หรือใส่อารมณ์ขัน การยกตัวเองเข้าไปด้วย เพื่อไม่ให้น่าเบื่อจนเกินไป พร้อมทั้งได้รับความรู้เสริมต่าง ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในบทความอีกด้วย
2. ใช้อุปกรณ์อัดเสียงแบบง่าย ๆ ใช้ซอฟต์แวร์ที่มีอยู่แล้วในการตัดต่อเสียง ช่วงแรกไม่ต้องลงทุนมาก
สำหรับใครที่มีงบจำกัดค่อนข้างมาก บอกเลยว่าการอัด Podcast ใช้ต้นทุนต่ำกว่าที่คิดเยอะพอสมควร ในช่วงแรกที่ไม่มีไมค์คุณสามารถใช้หูฟังต่าง ๆที่รับเสียงได้เอามาอัดได้เลย หรือจะใช้ไมค์โครโฟนที่ติดมากับโน้ตบุ๊คหรือ MacBook ก็ได้ ส่วนการอัดเสียงและการตัดต่อเสียงบอกเลยว่าซอฟต์แวร์ฟรีมีอยู่มากมาย ถึงจะมีข้อจำกัดบางอย่างไปบ้าง แต่ก็ใช้งานได้ดีเลยทีเดียว ส่วนตัวมี MacBook อยู่แล้ว แอพที่ติดมาและใช้งานได้คุ้มสุดนั่นคือ GarageBand (ใครจะใช้บน iPhone ก็ได้ แต่ส่วนตัวถนัดบน MacBook มากกว่า) ซึ่งเป็นแอพฟรีพื้นฐานที่ติดมากับ MacBook อยู่แล้ว สามารถอัพเสียงพอดแคสต์ได้เป็นอย่างดี ไม่มีปัญหา พร้อมทั้งตัดต่อเสียง เพิ่มจิงเกิลได้ ถ้าใครอยากได้จิงเกิลแบบถูกลิขสิทธิ์ก็สามารถหาซื้อได้ทั่วไป ราคาไม่เกิน 5 USD ก็ใช้งานได้แล้ว
แต่ถ้าใครอยากจะเอามาทำลง YouTube ด้วยก็สามารถใช้รูป Artwork เพียง 1 ชิ้น กับเสียงที่อัดมาจาก GarageBand เอามาทำเป็นคลิปที่ iMovie ซึ่งก็เป็นแอพที่ฟรีอีกนั่นแหละ ติดมากับ MacBook เช่นกัน เท่านี้ก็ได้แล้ว
แต่ส่วนตัวพอจะมีงบบ้าง เลยเลือกใช้ไมค์จาก Shure รุ่น MV7 Podcast Kit ที่ให้เสียงดีอยู่นะ ว่าไม่ได้ นับว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะลองอัดเสียงผ่านทางไมค์จาก MacBook แล้ว เสียงควบคุมยาก ฟังไม่ชัดเท่าที่ควร พอนำไปตัดต่อใน GarageBand จะเกิดการสวิงของ Volume ด้วย เลยตัดสินใจซื้อมาเพราะไหน ๆ ก็จะเดินทางสายนี้เต็มตัว แต่ซอฟต์แวร์ที่ใช้ตัดต่อเน้นของฟรีที่ติดมากับเครื่อง ใช้ได้โอเคเลย
3. เลือกแพลตฟอร์มลง ทำ Podcast พอดแคสต์ ให้ดี

จริง ๆ หลาย ๆ แพลตฟอร์มที่เราคุ้มหูไม่ว่าจะเป็น Spotify, Apple Podcast หรือ Google Podcast จริง ๆ แล้วไม่ได้มีการอัพโหลดไฟล์เสียงไปที่แอพนั้นโดยตรง แต่ทว่าเป็นแค่การดึงข้อมูลจาก RSS Feed เพื่อแสดงข้อมูลเสียงเท่านั้น ดังนั้นต้องมีแอพหรือแพลตฟอร์มตั้งต้นที่ไว้ใช้อัพโหลดไฟล์เข้าไป ซึ่งก็มีหลายผู้ให้บริการ แต่ทาง Digital Break Time แนะนำว่า PodBean ตอบโจทย์มากที่สุด สามารถใช้งานได้ฟรี (แต่มีข้อจำกัดหลายอย่าง เช่นอัพโหลดได้รวมสูงสุด 5 ชั่วโมง และไม่สามารถแชร์ไปที่แอพอื่นได้)
ซึ่งที่ผู้เขียนใช้ PodBean นั้นเป็นแพ็กเกจเดือนละ $14 หรือถ้าจ่ายรายปีจะเหลือที่เดือนละ $9 เพราะว่าไม่จำกัดความยาวของพอดแคสต์ สามารถแยกแชนแนลได้หลายช่อง มีระบบ Analytics ไว้สำหรับเช็กได้ด้วยว่ามีคนฟังเท่าไร มาจากช่องทางไหนมากที่สุด และยังมีการเผยแพร่แบบอัตโนมัติไปยังช่องทางอื่น ๆ เช่น Spotify, Apple Podcast หรือ Google Podcast ได้ด้วย ซึ่งเรียกได้ว่าสะดวกดีมาก ๆ อัพลง PodBean ที่เดียวกระจายไปได้ทั้งหมด แต่ต้องมีการตั้งค่าเล็กน้อยนะ
4. วัดผลว่ามีการเติบโตของคนฟังมากน้อยแค่ไหน
หลังจากที่ลง Podcast พอดแคสต์เรียบร้อยแล้ว จากนั้นก็คือเราก็จำเป็นที่จะต้องคอยวัดผลว่าเป็นอย่างไร มีคนฟังมากน้อยแค่ไหน บอกก่อนว่าถ้าเราอยู่ ๆ มาเริ่มทำ Podcast เลยนั้น เนื่องจากเราไม่มีฐานคนฟังหรือคนรู้จักเราเลย ก็จะมีคนฟังในระดับที่น้อยมาก ๆ ซึ่งของพวกนี้ต้องใช้เวลา และใช้ระยะเวลาทำอย่างต่อเนื่อง พยายามอย่าท้อ ค่อยๆ วัดผลไปเรื่อยๆ ดูกราฟถ้ามีสัญญาณเติบโต กราฟนั้นจะค่อย ๆ ชันขึ้น
แต่สำหรับ Digital Break Time นั้น มีเว็บไซต์และฐานผู้อ่านจำนวนหนึ่งการทำ Podcast จึงได้รับผลตอบรับที่ดีอยู่ไม่น้อย ใช้ระยะเวลาประมาณ 15 วัน มีคนฟังไปแล้วกว่า 100 ครั้ง อาจจะมองว่าดูน้อย ไม่มาก แต่นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมาก ๆ สำหรับเว็บไซต์เล็ก ๆ ที่นี่
สรุป ทำ Podcast พอดแคสต์ คืออะไร เริ่มต้นยังไงดี ต้องมีอะไรบ้าง ควรทำดีไหม
สำหรับใครที่มีใจรัก และอยากลองทางด้านนี้ แนะนำว่าให้ทำเลย เพราะใช้ต้นทุนไม่สูงมาก อย่างน้อยก็ได้ลองทำ ดีกว่าปล่อยค้างคาเอาไว้ ส่วนผลลัพธ์จะเป้นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับประเภทของคอนเทนต์ รวมไปถึงความสม่ำเสมอของการทำพอดแคสต์ด้วยว่าเป็นอย่างไร ทาง Digital Break Time เป็นกำลังใจให้กับทุกคนที่เริ่มทำ Podcast พอดแคสต์ ค่อย ๆ ปรับลองทำและวัดผลไปด้วยกัน
ใครที่มีคำถามเกี่ยวกับ Digital Marketing หรือเกี่ยวกับเรื่องอื่น ๆ สามารถ Inbox สอบถามได้ที่ Facebook ของ Digital Break Time คำถามเด็ด ๆ ที่คิดว่ามีประโยชน์จะนำมาเขียนบอกเล่าให้กับคนอื่น ๆ ได้รู้ด้วย
ติดตามข่าวสาร บทความดี ๆ จาก Digital Break Time ได้ที่
Facebook, Twitter, Line Official Account, Instagram
ธนาคาร เลิศสุดวิชัย x Digital Break Time