วิเคราะห์กลโกง มิจฉาชีพด้านการสื่อสาร เมื่อไม่นานมานี้ มีคนใกล้ตัวมาเล่าให้ฟังว่า เขาโดนมิจฉาชีพ อ้างว่าเป็นแบรนด์สินค้าหนึ่ง แล้วบอกว่าสินค้าที่เพิ่งซื้อไป มีปัญหา จะทำการไปรับคืนและส่งชิ้นใหม่ให้ โดยมีค่าดำเนินการ จากคำบอกเล่าของคนนั้น ผมเองรู้สึกว่า วิธีการสื่อสารของพี่มิจ ช่างดูมีชั้นเชิงมากๆ ก็เลยนั่ง วิเคราะห์กลโกง กระบวนการของพี่มิจ ว่ามันสามารถปรับใช้ในงานของเราได้มั้ย? วันนี้เลยมาขอแชร์วิธีการของพี่มิจในมุมมองของคนทำ Content Marketing ว่าปัจจัยอะไรที่ทำให้การหลอกครั้งนี้มันเวิร์ก รวมถึงจะปรับใช้ในงานได้อย่างไร
วิเคราะห์กลโกง วิธีการสื่อสารของมิจฉาชีพมีอะไรบ้าง?
สร้างความน่าเชื่อถือ
กลโกงของมิจฉาชีพ ในขั้นเริ่มต้นเลย มักจะเริ่มจากการ “สร้างความน่าเชื่อถือ” ก่อน ที่เราเคยเห็นในข่าวบ่อยๆ ก็เช่น อ้างเป็นคนรู้จัก, เป็นบริษัทหรือแบรนด์ที่เราเป็นลูกค้า, เป็นบุคคลสำคัญ มีตำแหน่ง มีชื่อเสียง ซึ่งเอาจริงๆ ตรงนี้ผมมองว่ามันมีเรื่องของข้อมูลมาเกี่ยวข้องด้วย บางทีมิจฉาชีพก็ไม่รู้ไปเอาข้อมูลเรามาจากไหน แล้วมาพูดกับเรา เช่น “เพิ่งซื้อสินค้า xxx ไปใช่มั้ยคะ?” “ไม่นานมานี้เพิ่งโอนเงินให้ xxx ใช่หรือเปล่า”
บอกเลยว่าจุดนี้สำคัญมากๆ เพราะในมุมมองของคนทำ Content Marketing การสร้างความน่าเชื่อถือเป็นเรื่องที่ถ้าทำได้ ขั้นต่อไปของการสื่อสารก็ไม่ยากเกินเอื้อมแล้ว
ชี้ปัญหา กระตุ้นความกลัว
ถ้าจากคำบอกเล่าของคนใกล้ตัวที่โดนมา เคสนี้เป็นการแจ้งว่าสินค้าที่เพิ่งสั่งซื้อไป มีปัญหา อาจส่งผลต่อความไม่ปลอดภัยได้ จำเป็นต้องเรียกกลับ แล้วที่ซื้อมาก็หลักหมื่นเลย พอได้ยินแบบนี้ก็เกิดความกลัวขึ้นมาสิ
“ความกลัว” ก็เป็นเรื่องที่ส่งผลต่อจิตใจคนได้แบบยิ่งใหญ่เลยเหมือนกัน ไม่ว่าจะกลัวที่จะพลาด กลัวความผิด ใดๆ ก็ตามแต่ การกระตุ้นให้เกิดความกังวล หรือชี้ให้เห็น Pain Point จากสิ่งที่กลุ่มเป้าหมายเป็นอยู่ เจออยู่ จะเริ่มทำให้กลุ่มเป้าหมายเริ่มคิดหรือมองหาวิธีการแก้ปัญหาตรงนี้ให้จบลง แล้วยิ่งใจเชื่อไปแล้วว่ากำลังคุยกับคนที่น่าเชื่อถืออยู่ สิ่งที่เขาสื่อสารมามันก็ดูมี Impact มากขึ้นไปอีก
นำเสนอ Solution
แน่นอนว่าหลังจากทำให้เรากลัวหรือรู้สึกว่ามีปัญหา พี่มิจก็จะมาพร้อมกับ Solution ที่น่าสนใจเสมอ อย่างกรณีนี้คือการบอกว่า จะไปรับสินค้าคืนให้ถึงบ้าน แต่ๆๆๆ มีค่าดำเนินการในการไปรับสินค้า บวกกับจะนำสินค้าชิ้นใหม่ไปส่งให้โดยไม่คิดเงินเพิ่ม แถมคืนเงินให้เต็มจำนวนอีก เป็นใครก็ต้องรู้สึกประทับใจในการให้บริการของร้านค้า (ปลอม) ใช่มั้ย? Solution มันช่างเหมาะเจาะกับความต้องการจริงๆ บทเรียนที่ได้จากพี่มิจ ทำให้รู้เลยว่า ลูกค้ามีปัญหา มี Pain Point แบบไหน ถ้าเรานำเสนอ Solution ที่มันตรงความต้องการมากๆ มันก็มีโอกาสที่เขาจะสนใจในแบรนด์เรา แต่ก็ต้องสื่อสารให้ถูกใจ ถูกจุด และถูกเวลาด้วยเช่นกัน
กระตุ้นให้ตัดสินใจอย่างรวดเร็ว
มาถึงสเต็ปของการใช้ CTA แล้ว มิจฉาชีพก็มักจะมีคำพูดในทำนองว่า “ต้องดำเนินการภายใน xx นะ” หรือ “ดำเนินการตอนนี้เลย เพราะต้องปิดเคสแล้ว” คิดดูว่า คนพูดก็ใช่ ปัญหาก็ใช่ Solution ก็ดีอีก ถ้าไม่รีบตอนนี้ก็พลาดเลยนะ เวลาในการตัดสินใจที่น้อยมากกับ input ที่ได้รับมากมายขนาดนี้ มีโอกาสที่เราจะหลงกลได้ง่ายขึ้นเลยเหมือนกัน
จริงๆ ถ้าไม่ใช่ในมุมของมิจฉาชีพ แต่มองกลับมาที่แคมเปญการตลาดพวก Flash sale ต่างๆ ที่เสนอขายสินค้า บริการที่เรากำลังต้องการจริงๆ ในเวลาจำกัด บางทีเรายังเผลอกดสั่งซื้อแบบไม่ทันคิดเลย
แล้วการต้องสื่อสารตรงๆ กับมิจฉาชีพ แล้วโดนเร่งรัด ก็แทบจะไม่มีเวลาให้คิด จนสุดท้ายอาจจะเผลอโอนเงินไปเหมือนกัน
สรุป วิเคราะห์กลโกง มิจฉาชีพ สามารถปรับใช้กับ Content Marketing ได้มั้ย?
ที่นำเสนอมาในบทความนี้ ไม่ได้แปลว่าต้องการให้ไปโกงใคร และไม่สนับสนุนให้โกงใครทั้งสิ้น เพียงแต่ วิเคราะห์กลโกง วิธีการสื่อสาร หรือ Message ที่พี่มิจเลือกใช้ ถึงมันจะดูไม่ซับซ้อน หวือหวา แต่ว่าเขาวางแผนมาอย่างดี จนทำให้มีโอกาสประสบความสำเร็จในเป้าหมายของเขาได้ ซึ่งเรื่องหลักๆ ที่คนทำ Content Marketing น่าจะนำมาปรับใช้ได้ คือเรื่องของการ วางแผนการสื่อสาร เพื่อสร้างการรับรู้ในแต่ละเรื่องไปอย่างมีทิศทาง รวมถึงการเลือกสื่อสารอย่างถูกจังหวะ ถูกเวลา ก็เป็นสิ่งที่สามารถนำมาปรับใช้ได้เช่นกัน
ติดตามเรื่องราว Digital Marketing จาก Digital Break Time ได้ที่
Facebook, X, Line Official Account, Instagram, Spotify, YouTube, Apple Podcast