เอเจนซี ลาออก รวมเหตุผลของคนลาออกจากดิจิทัลเอเจนซีโฆษณา เรียกได้ว่าการลาออก เป็นเรื่องที่จะต้องพบเจอเป็นเรื่องปกติของชีวิตมนุษย์เงินเดือนกันอยู่แล้ว แต่สำหรับประสบการณ์ส่วนตัวจากการทำงานมา โดยเฉพาะดิจิทัลเอเจนซี ก็มีหลายครั้งที่พบเจอคนที่ลาออกเอง ทั้งคนในทีม คนต่างทีม หรือแม้กระทั่งตัวเองที่ลาออกมาบ่อยครั้งเช่นกัน
เลยจะมาแบ่งปันประสบการณ์ว่าทำไมหลายคนถึงลาออก อันนี้เป็นการถามคนที่จะลาออกมาเชิงส่วนตัวกัน และปัญหาที่พบได้เจอมาจริง ๆ ใครที่ทำงานในตำแหน่งบริหารของเอเจนซีก็สามารถนำไปปรับปรุงเพื่อลดอัตราการ Turn Over Rate ของคนลงได้
เอเจนซี ลาออก รวมเหตุผลของคนลาออกจากดิจิทัลเอเจนซีโฆษณา
แก้งานไม่จำกัด แก้แล้วแก้อีก บางทีทำให้ลูกค้าฟรี
การทำงานเอเจนซีมีหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะงานที่ต้องใช้ความสวยงามอย่างเช่น Artwork หรือว่าการทำเว็บไซต์ เชื่อไหมว่า Artwork บางรูปถูกแก้เป็นสิบรอบ หลายครั้งมาก แล้วแก้ในที่นี้คือไม่ใช่การแก้ขยับเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่แม้กระทั่งแก้แบบที่เปลี่ยนไปมาเลย อันนี้คืออึ้งมาก แก้จนกระทั่งเลย Deadline ที่จะลงคอนเทนต์กันก็มี หนักกว่านั้นบางอย่างก็เป็นการทำให้ลูกค้าแบบฟรี ๆ ไม่คิดเงิน อึ้งครั้งที่ 2 ต่อไปอีก
หรือถ้าเป็นเว็บไซต์ หนักสุดคือ ทำเว็บไซต์ 1 ปีมาแล้ว ยังไม่เสร็จ ติดกันแต่เรื่องดีไซน์ เดี๋ยวมีโปรดักส์ใหม่ ๆ เอามาเติมตลอด 1 ปีที่ว่านี้ยังไม่ได้เขียนโค้ดทำ Backend กันด้วยซ้ำ อยู่แต่กับเรื่องดีไซน์นี่แหละ แพลนที่วางไว้จะเสร็จภายใน 5 เดือนล่มหมด พังไม่เป็นท่า
การทำงานให้ฟรีมีข้อเสียคือ ลูกค้าก็จะคิดว่างานไม่มีคุณค่าหรือราคา ครั้งหน้าก็จะมีของฟรีต่อไปอีก ทำให้คนที่ทำงานด้านนี้เหนื่อยเพิ่มขึ้น อีกทั้งการแก้อย่างไม่จำกัด ไม่ได้มีเหตุผลอันสมควรในการแก้ ทำให้งานไม่ก้าวไปไหนเสียที ก็วนอยู่กับการแก้ หนักเข้าก็จะทำให้งานที่ทำออกมาอย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ ทุกคนก็จะคิดว่า ยังไงก็ต้องแก้อยู่ดี สู้สัก ๆ แต่ทำให้มันเสร็จ ๆ ไป รอแก้เลยดีกว่า ส่วนงานบางอย่างที่ใช้เวลาเกิน ก็อยากให้รู้ว่า เวลาเป็นของมีค่า เว็บไซต์ไม่มีคำว่าเสร็จ 100% ในครั้งเดียว อนาคตปรับเปลี่ยนได้เสมอ แต่สิ่งที่สำคัญคือเวลาต่างหาก เวลาเป็นสิ่งที่มูลค่ามาก ผ่านไปแล้วผ่านไปเลย แนะนำว่าให้แบ่งทำเว็บไซต์เป็น Phase จะดีกว่าอย่างน้อยทำให้เสร็จไปก่อน เปิดใช้งาน และถ้าต้องการเพิ่มฟีเจอร์อื่น ค่อยเพิ่มเติมเอาทีหลังได้ ไม่อย่างนั้นเว็บไซต์ก็ไม่ได้ใช้งานเสียที เลยเป็นเหตุผลที่คนจาก เอเจนซี ลาออก
แคร์ลูกค้ามากเกินไป จนละเลยคนทำงานในองค์กร

ได้ครับได้ ค่าได้ค่า เป็นคำตอบที่หลายคนรับหน้ากับลูกค้าไว้ก่อน ไม่ว่าจะเป็น Deadline หรือการทำงานต่าง ๆ แล้วค่อยมากดดันกับคนในองค์กร หรือคนในทีมเอง จะเอางานภายในวันนั้นวันนี้ โดยที่ไม่เคยให้ทีมหรือคนที่ทำงาน Feedback เลยว่าเป็นไปได้หรือไม่ ทำงานยากหรือเปล่า หรืองานที่สกิลทักษะสูง ๆ อาจจะขายไปก่อน แต่ก็ไม่ปรึกษทีมเช่นกันว่า Process งานเป็นอย่างไร ขั้นตอนยากหรือง่าย ซึ่งข้อเนี้ย ก็จะรวมถึงข้อแรกด้วยก็วนกลับไปแก้แบบบุฟเฟต์ จนทำให้คนในองค์กรเกิดอาการที่เรียกว่า Burnout เบื่อ เพราะทุกอย่างคิดถึงแต่ลูกค้าเป็นอันดับแรก แต่ไม่ได้คิดถึงคนที่ทำงานด้วยกันเลย ก็อย่าแปลกใจที่หลายคนพร้อมใจกันตบเท้าเดินออกจากเอเจนซีไป
บรีฟล่องหน บรีฟแบบไม่บรีฟ เป็นเหตุผลหลักที่คนจาก เอเจนซี ลาออก
นี่ไม่ใช้เพลงของ Getsunova แต่อย่างใด แต่เคยเจอไหมว่านี่น่ะหรือบรีฟ บรีฟจริงเหรอ เคยเจอให้หา Influencer ด้วยที่ไม่แจ้ง Budget ไม่แจ้งจำนวนนึง สโคปงานไม่มี มีแต่แบบกว้างมาก ๆ นำงานไปใช่ที่ไหนบ้างไม่มีบอก ใช้ระยะเวลาเท่าไร ไม่มีแจ้ง เอาจริงถ้าเป็นงานส่วนตัวนี่ไม่รับเลยนะ แต่พอเป็นงานบริษัท พอมาแบบนี้แล้วทำไง ก็ต้องหา แต่ก็มักจะไม่ได้รับความร่วมมือจาก Influencer เท่าที่ควร เพราะเราไม่มีรายละเอียดใด ๆ (ส่วนตัวถ้าอยู่ดี ๆ มีคนมาถามราคาอย่างเดียว ที่ไม่มีใน Rate Card แถมบอกสโคปงานไม่ชัดเจน ก็ไม่อยากจะคุยเอาจริง ๆ) ทำให้ Influencer หลายคนบอกปัดอย่างไม่มีเยื่อใย ต่อให้เรามีรายละเอียดภายหลังแล้วติดต่อไปอีกรอบ แต่ First Impression แย่ ก็เป็นภาพฝังใจไปแล้ว ก็ไม่มีใครอยากรับงานจากเรา
ไม่เพียงแค่กับงาน Influencer แต่รวมไปถึงแผนงาน Digital Marketing ด้วย ไม่มีบรีฟ หรือบรีฟแบบเละ ๆ บรีฟแบบไม่บรีฟ บอกตามตรง ทำต่อไปไม่ถูกเลยเหมือนกัน
วิธีแก้ไขที่ง่ายที่สุดคือการทำตารางบรีฟให้ชัดเจน ว่าทำไมลูกค้าต้องการใช้บริการนี้ จุดประสงค์ของการทำคืออะไร สินค้าและบริการคืออะไร อยากให้งานออกมาในรูปแบบไหน มี Key Message หรือไม่ สุดท้ายและสำคัญมากที่สุด ถามมาด้วยว่ามีงบประมาณเท่าไร มี Budget แค่ไหน เพราะถ้าไม่มีกรอบ Budget เลย พูดตามตรง ไปไม่ถูก ไม่รู้จะทำแผนอย่างไร จะหา Influencer แบบไหน เพราะว่าทำไปก็เท่านั้น บอกมาหน่อยเหอะ จะได้ทำตามงบได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
ขาดเครื่องมือ และคน Support หน้าที่และตำแหน่งมากเกินไป

ต้องบอกก่อนว่า เอเจนซีในไทยไม่มีอะไรเป็นของตัวเอง เพราะเราไม่ได้พัฒนาเครื่องมือใช้เอง (ยกเว้นเอเจนซีบางที่ มีเทคโนโลยี หรือเครื่องมือที่จัดเต็มมาก) สิ่งที่มีเหนือกว่าธุรกิจอื่น นั่นคือทรัพยากรมนุษย์ที่รวมคนที่ใช้งานเครื่องมือ การทำการตลาดเก่ง ๆ และการครีเอทีฟ มารวมกันไว้ นั่นคือสิ่งที่ดิจิทัลเอเจนซีมี หลายเอเจนซีจึงมีการจ้างงานแยกย่อยหลายตำแหน่ง เพื่อรองรับกับโครงสร้างประเภทงานกันออกไป
แต่ทว่าเอเจนซีขนาดเล็ก คนหนึ่งคนมักจะต้องทำงานหลายตำแหน่งมากเกินไป บางคนเป็น AE ควบรวมกับ Digital Marketing บางทีก็ต้องคิดคอนเทนต์อีก ซึ่งการทำงานแบบนี้ก็ไม่ต่างจากการทำงานแบบ In-house ขนาดเล็กหลายที่เลย สู้ไปทำ In-house น่าจะดีกว่า พอทำหลายหน้าที่เกินไปก็เหนื่อยและเกิดอาการ Burnout ได้ ซึ่งหลายบริษัทเข้าใจว่าในช่วงโควิดเป็นต้นมา ทำให้ต้องลดกำลังในการจ้างงานคนออกไป ทำให้คนภายในทำงานหนักขึ้น ก็แน่นอนใครจะอยากอยู่ต่อละจริงไหม งานมากขึ้นแต่ผลตอบแทนเท่าเดิม
อันนี้เล่าจากประสบการณ์จริง เคยลาออกเพราะว่าได้ทำหน้าที่ที่ไม่ได้อยากทำแล้วไม่ชอบ โดยปกติหน้าที่ของเราคือ Digital Marketing ทำให้ที่ควบคุมดูแลในส่วนของโฆษณา การวางแผน การวาง Budget และการทำให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์ ต่าง ๆ แต่เคยโดนมอบหมายงานที่ต้องมาตรวจสอบ AW ตรวจสอบคอนเทนต์ว่าเขียนผิดไหม ทำ AW ออกมาได้ดีหรือเปล่า ซึ่งเอาเข้าจริง ๆ ตรงนั้นควรเป็นหน้าที่ของ Content Manager หรือว่า AE (Account Executive) มากกว่าที่จะเป็นเรา เราเลยเลือกที่จะเดินออกมาจากองค์กรที่มอบหมายงานได้ไม่ตรง อีกทั้งเรามองว่างานตรงนี้ไม่ได้ช่วยพัฒนาความรู้อะไรให้เราได้เลย (เอาเข้าจริงมันทำให้เราเป็นคนรอบคอบ แต่ส่วนตัวไม่ชอบงานจับผิดผู้อื่น เอาเวลาไปทำอย่างอื่นที่มีประโยชน์กว่า)
ผลตอบแทนไม่เหมาะสมอีกต่อไป เลยเป็นเหตุผลที่ เอเจนซี ลาออก
ผลตอบแทนหลายคนอาจจะคิดว่าเอ๊ะ เราพูดถึงเรื่องเงินอยู่หรือเปล่านะ เอาเป็นว่าเงินคือเป็นส่วนหนึ่งของผลตอบแทนจะดีกว่า ผลตอบแทนมีหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็น เงินเดือน สวัสดิการ เวลา ความรู้ ฯลฯ ผลตอบแทนหลายอย่างสามารถรู้ได้ทันทีว่ามีอะไรบ้าง ก่อนที่จะเริ่มทำงานเสียด้วยซ้ำ เช่นเงินเดือน สวัสดิการ รวมไปถึงความรู้บางอย่างหรือคอร์สที่จะเพิ่มความรู้ได้
แต่ผลตอบแทนบางสิ่งถ้าไม่เข้าไปทำจริงก็ไม่สามารถรู้ได้เลย เช่นเวลาทำงานจริงเป็นอย่างไร หรือถ้าอยากได้ความรู้จริง การทำงานมีคนสอนงานหรือระบบที่ดีรองรับไหม พวกนี้คือเป็นสิ่งที่หลายคนต้องชั่งตวงวัดผลตอบแทนทั้งหมดโดยรวมกัน ว่าการที่เราทำงานที่นี่นั้น ผลตอบแทนที่ว่ามาเป็นอย่างไร อย่าแปลกใจที่ว่าเงินเดือนสูงสวัสดิการดี แต่ไม่มีเวลาอาจไม่ใช่สิ่งที่หลายคนตามหา เพราะทุกคนคาดหวังผลตอบแทนที่ไม่เหมือนกัน
ทั้งหมดนี้เรียกว่าเป็นการรวมประสบการณ์จากที่ตัวเองทำงานดิจิทัลเอเจนซีมา พบกันคนที่เข้ามาแล้วออกไป เพื่อนร่วมงานที่สินทกันหลายคนก็ทยอยออกจากองค์กร ทั้งที่เงินเดือนก็ไม่ใช่น้อย ๆ รวมไปถึงประสบการณ์ตรงจากตัวเองด้วย หวังว่าใครที่ทำงานอยู่ในฝ่ายบริหารของดิจิทัลเอเจนซี ถ้าได้มาอ่านกันแล้ว หวังว่าจะนำไปปรับก่อนที่จะเกิดการลาออกได้ หรือใครที่เพิ่งจะเริ่มเข้าวงการมนุษย์เงินเดือนเอเจนซีแล้วล่ะก็ จะบอกไว้ก่อนว่าการลาออกไม่ใช่สิ่งที่ผิดหรือเป็นการหนีปัญหาอีกต่อไป เพียงแต่เป็นวิธีการแก้ไขปัญหาอีกทางหนึ่ง ไม่มีผิดไม่มีถูก
ใครที่มีคำถามเกี่ยวกับ Digital Marketing หรือเกี่ยวกับเรื่องอื่น ๆ สามารถ Inbox สอบถามได้ที่ Facebook ของ Digital Break Time คำถามเด็ด ๆ ที่คิดว่ามีประโยชน์จะนำมาเขียนบอกเล่าให้กับคนอื่น ๆ ได้รู้ด้วย
ติดตามเรื่องราว Digital Marketing จาก Digital Break Time ได้ที่
Facebook, Twitter, Line Official Account, Instagram, Spotify, YouTube, Apple Podcast
ธนาคาร เลิศสุดวิชัย x Digital Break Time