Podcast การตลาด เริ่มทำยังไงดี มีอะไรบ้างที่ต้องเตรียม? ปฎิเสธไม่ได้เลยว่า Podcast เป็นสื่อที่เข้าถึงคนได้ง่าย ไม่ว่าจะตอนขับรถ นั่งทำงาน หรืออยู่บ้านเฉยๆ บางทีเราก็จะเปิด Podcast ทิ้งไว้ และก็คงมีใครอีกหลายคนที่อยากเปลี่ยนจากคนฟังมาเป็นคนทำ Podcast (อย่างเช่นผู้เขียน) ที่อยากลองเล่าเนื้อหาการตลาดและคอนเทนต์รูปแบบเสียงบ้าง
หลังจากไปศึกษา แล้วก็เตรียมตัวเพื่อทำ Podcast มาสักพัก ทีนี้ก็เลยอยากเอาสิ่งที่ได้เรียนรู้มาฝากทุกคน เผื่อว่าใครที่กำลังจะเข้าสู่วงการการทำ Podcast แล้วยังรู้สึกว่าไม่พร้อม จะได้มาลองเช็กความพร้อมไปด้วยกัน
How to ทำ Podcast การตลาด เตรียมตัวยังไง พูดเรื่องอะไรบ้าง
สิ่งที่ต้องเตรียมตัวก่อนทำ Podcast การตลาด
ก่อนเริ่มทำ Podcast การตลาด ซึ่งจริงๆ หมายถึง การเริ่มทำ Podcast ไม่ว่าจะเกี่ยวกับแวดวงไหนก็ตาม อยากชวนทุกคนมาเตรียม 2 สิ่งหลักๆ ให้พร้อมกันก่อน
1. การเตรียมเรื่อง หรือ หัวข้อที่อยากทำ
จากความคิดเห็นและประสบการณ์ส่วนตัว หัวข้อที่มักจะนำมาทำเป็น Podcast มักจะมาจาก
- สิ่งที่กำลังทำอยู่ หรือ สิ่งที่เชี่ยวชาญ
- สิ่งที่กำลังสนใจ หรือกำลังศึกษาอยู่
- ประสบการณ์ส่วนตัว
นอกจากนี้ เราอาจจะนำประเด็นที่คนอยากรู้ มาศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อทำเป็น Podcast ก็ได้เช่นกัน เช่น เทรนด์การตลาด เทคนิคการใช้เครื่องมือ หรือ How to ต่างๆ เช่น เทคนิคการเขียนบทความ การทำใบเสนอราคาให้ลูกค้า เป็นต้น
หาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากที่ไหน?
วิธีที่ง่ายที่สุด และทุกคนรู้จักกันดี นั่นก็คือ Google อยากรู้อะไรเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องที่สนใจ ให้เสิร์ชหา แล้วเลือกดูจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้เลย แต่ก็มีอีกหลายช่องทางที่น่าสนใจ และอยากฝากให้ลองใช้ดู
1.) เว็บไซต์ที่เกี่ยวกับการตลาด หรือ แพลตฟอร์มบทความที่มีความสากล
เช่น Medium , AdAge เว็บไซต์พวกนี้ช่วยได้มาก ในการอัปเดตข้อมูลข่าวสาร บางครั้งเราอาจจะได้ทั้งข้อเท็จจริง ข่าวสาร รวมถึงประสบการณ์ตรงของผู้ที่เผยแพร่ นอกจากจะได้ข้อมูลเพิ่มเติมแล้ว ยังอาจจะมีไอเดียใหม่ๆ มาทำ Podcast ก็ได้
2. ) Socal Listening Tools
ไว้คอยดูกระแส และ สิ่งที่คนกำลังพูดถึง ซึ่งปัจจุบันก็มีเครื่องมือฟรีให้ได้ลองใช้ เช่น Wisesight Trends หรือ Mandala AI cosmos สามารถเลือก Keyword ประเภทของธุรกิจ หรือแม้แต่เลือกช่องทาง
โซเชียลมีเดียก็ได้เช่นกัน สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้เลย ว่าอะไรที่กำลังมาแรงในสื่อต่างๆ
3.) AI Tool
ไม่ว่าจะเป็น CHAT GPT , Copilot หรืออื่นๆ AI พวกนี้ นอกจากจะไปช่วยสืบค้นมาให้แล้ว ยังสามารถสรุปให้เราได้เข้าใจง่ายขึ้น แต่อาจจะต้องตรวจสอบข้อมูลกันอีกรอบ เพื่อความแม่นยำของข้อมูล
4.) สอบถามผู้เชี่ยวชาญ
พูดคุยกับผู้ที่อยู่ในแวดวงของสิ่งที่กำลังศึกษา ถ้ามีที่ปรึกษาตรงนี้ ก็อาจจะได้เปรียบในแง่การได้รับข้อมูลเชิงลึก รวมถึงประสบการณ์ต่างๆ ของเขา ที่อาจขออนุญาตนำมาเผยแพร่ หรือ ในอนาคตอาจมีการเชิญมาเพื่อร่วมทำ Podcast ด้วยกันก็ได้
2. การเตรียมอุปกรณ์
- ไมโครโฟน – ในช่วงเริ่มแรก อาจจะลองใช้ไมโครโฟนที่ราคาไม่สูงมาก หรืออัดผ่านสมาร์ทโฟนไปก่อนก็ได้ แต่ก็ต้องบอกว่า คุณภาพเสียง สำคัญมากในการทำ Podcast ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้ลงทุนกับไมโครโฟนที่คุณภาพเสียงดี
- คอมพิวเตอร์ / แทบเล็ต หรือมือถือ – เพื่อใช้เป็นตัวบันทึกไฟล์เสียงของเราไว้ เลือกได้ตามที่ถนัด เพราะปัจจุบันนี้ แท็บเล็ต หรือมือถือ ก็รองรับการต่อไมโครโฟนแยกแล้ว
- โปรแกรมตัดต่อเสียง – มีให้ใช้ทั้งแบบเสียเงินและฟรี แต่ถ้าใครใช้ iPhone, iPad ก็ขอแนะนำ Garageband เพราะนอกจากใช้ทำดนตรีได้แล้ว ก็ใช้ตัดต่อเสียงได้ด้วย และยังมีแอปตัดต่อวิดีโอในมือถือที่คิดว่าก็สามารถใช้ตัดต่อเสียงได้ดี คือ Capcut เพราะมีฟีเจอร์ในการ ลด Nosie และมี AI มาช่วยประมวลผล ปรับปรุงเสียงให้ดีขึ้นได้ด้วย
How to ลงมือทำ Podcast ใน 4 ขั้นตอน
- ทำสคริปต์ – จะเป็นสคริปต์แบบละเอียด หรือเป็นหัวข้อๆ ก็ได้แล้วแต่ความถนัด เพราะการทำ Podcast ไม่ใช่การอ่านให้ฟัง แต่เป็นการพูดคุย ถ้าบางทีเขียนสคริปต์แบบละเอียดเกิน อาจจะทำให้กังวลกับการพูดให้ถูกตามสคริปต์จนไม่เป็นธรรมชาติก็ได้
- หาสไตล์การเล่าที่ชัดเจนและเป็นตัวของตัวเอง – ลองดูว่าตัวเราเองมีสไตล์การพูดแบบไหน แล้วทำให้ดูโดดเด่นขึ้น แต่ถ้าไม่รู้จริงๆ ก็ไม่ต้องซีเรียสมาก ให้ค่อยๆ ค้นหาและปรับไปเรื่อยๆ ก็ได้ จนในที่สุดเราก็จะพบสไตล์ที่เป็นเราเอง
- ฝึกซ้อม – เขียนสคริปต์แล้วก็ ฝึกซ้อมให้บ่อยๆ ให้เราชินกับการพูด การออกเสียงคำบางคำ เวลาที่ลงมือจริงจะได้ไหลลื่น (แต่ไม่ต้อง 100% ยังไงก็สามารถตัดต่อ หรืออัดใหม่ได้)
- กำหนดแพลตฟอร์มที่จะลง – ช่องทางการลง มีหลากหลาย ทั้งนี้เราอาจจะต้องมาดูว่า Podcast ของเรานั้น มีความยาวมากหรือน้อย, กลุ่มเป้าหมายของเราเป็นใคร แต่ก็ไม่ได้จำเป็นว่า ต้องลงเพียงแพลตฟอร์มเดียว เราอาจจะทำเป็นหลายเวอร์ชัน ให้เหมาะสมกับแพลตฟอร์มต่างๆ ก็ได้
เช่น ตัวเต็มไปลง Youtube, Soundcloud, Spotify แล้วตัดไฮไลต์ลง Reels, Youtube Shorts, TikTok แต่อย่างหนึ่งที่ต้องรู้คือ ข้อกำหนดของแต่ละแพลตฟอร์ม เช่น คุณภาพเสียง, Bit rate และ นโยบายอื่นๆ นั่นเอง
สรุป ทำ Podcast การตลาด เตรียมตัวยังไง
หลังจากเตรียมตัวกันแล้ว แล้วถ้ารู้สึกว่าพร้อม ก็อยากให้เริ่มทำเลย! เพราะถ้าจะรอให้พร้อมกว่านี้ ก็อาจจะไม่ได้ลงมือทำสักที แต่ถ้าจะเริ่มทำแล้ว อยากขอแชร์แนวคิดส่วนตัว เป็นแนวทางให้กับมือใหม่ด้วย
ส่วนตัว ผมจะยึดข้อปฏิบัติ หลัก คือ
“ความสม่ำเสมอ” ไม่ว่าจะมีคนฟังกี่คน เราก็ควรสม่ำเสมอในการทำ Podcast ออกมา ในระยะยาวจะส่งผลดีในแง่ Engagement รวมถึง ทำให้คนที่ติดตามเราเขายังคงติดตามเราอยู่เรื่อยๆ
“การรับผิดชอบผู้ฟัง” ทุกสิ่งที่คนฟังได้ฟังจากเรา ให้คิดไปเลยว่า เขาไว้ใจ เชื่อในสิ่งที่เราพูด เพราะฉะนั้น ทุกสิ่งที่เรานำเสนอ จะต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ถูกต้องตามกฎหมายและศีลธรรม
“น้อมรับความเห็นเพื่อพัฒนา” หมั่นคอยดูประสิทธิภาพ และเปิดรับความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ เพื่อพัฒนาชิ้นงานให้ดีขึ้น และตรงใจผู้ฟังมากขึ้น
ยังไงก็ขอฝาก บทความ และ Podcast ของผมไว้ด้วยนะครับ แล้วเดี๋ยวเรามาเจอกันในครั้งหน้าครับ
ติดตามเรื่องราว Digital Marketing จาก Digital Break Time ได้ที่
Facebook, X, Line Official Account, Instagram, Spotify, YouTube, Apple Podcast