ทำหลักสูตร สอน Digital Marketing จริง ๆ ไม่ต้องเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนขายหลายคน แต่ยังรวมไปถึงการเรียนขนาดเล็กไม่กี่คนด้วย ทักษะการสอนเรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่ช่วยเสริมให้ Digital Marketing ของเราโดดเด่นขึ้น และยังช่วยเพิ่มการบริการให้กับฟรีแลนซ์หรือเอเจนซี่ต่าง ๆ ได้ด้วย
ต้องบอกเลยว่าตอนนี้ทาง Digital Break Time ผู้เขียนเองได้กำลังทำหลักสูตรในการสอน Digital Marketing ในรูปแบบบุคคลธรรมดาเรียน และกำลังจะได้ไปสอนในองค์กร (เนื่องจากมีคนติดต่อมา) นั่งทำหลักสูตรพร้อมสไลด์ ไปๆมาๆ ก็นึกถึงคอนเทนต์ในการทำหลักสูตรการสอน Digital Marketing เลยว่า ก็ต้องมีคนที่เคยเจอปัญหาแบบเราว่าเราจะทำหลักสูตรอย่างไรดี และจะเริ่มต้นบรรยายอย่างไรดี
แน่นอนว่าทักษะการทำ Digital Marketing เป็นทักษะที่เรียกได้ว่าเป็น Hard Skills อย่างหนึ่ง แต่ทักษะการทำหลักสูตร รวมไปถึงการสอนนั้น เป็นทักษะคนละแบบโดยสิ้นเชิง คนที่ทำ Digital Marketing เก่ง ๆ อาจจะสอนหรือทำหลักสูตรไม่เป็นเลยก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเมื่อก่อนทางผู้เขียนเองก็ไม่ได้ทีทักษะทางด้านการสอนเลย แต่พอมีช่วงหนึ่งที่ได้ทำงานในเอเจนซีเกิดจัดงานอบรมสำหรับบุคคลภายนอก เลยมีความจำเป็นที่จะต้องทำไฟล์พรีเซนต์สำหรับการเรียนการสอน รวมไปถึงการจัดตารางเวลาหลักสูตรในเบื้องต้น และแน่นอนว่าก็ได้รับบทการสอนเป็นครั้งแรกด้วย เลยได้ทักษะทั้งสองอย่างนั้นเป็นต้นมา จนกระทั่งปัจจุบันที่ยังรับงานสอนและงานบรรยายบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ เลยลองทำคอนเทนต์นี้ เพราะต้องมีหลายคนประสบปัญหาเหล่านี้ไม่มากก็น้อย โดยสิ่งที่ต้องเตรียมพร้อมมีดังนี้
ทำหลักสูตร สอน Digital Marketing จะเริ่มอย่างไรดี ให้ออกมาดี
- เข้าใจกลุ่มเป้าหมาย ว่าต้องการเรียนรู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับ Digital Marketing
- วางแผนเรื่องเวลาให้เหมาะสมกับเรื่องที่จะสอน
- เป็นไปได้อยากให้ทำสไลด์ หรือ Presentation เอง เพื่อให้เข้าใจและพูดง่ายขึ้น
- ลองฝึกพูดเพื่อให้คล่อง และไหลลื่นขึ้น
- การสอนไม่ใช่เรื่องที่เราต้องพูดอย่างเดียว แต่การปฏิบัติ และแนวคิดนั้นสำคัญ
- เมื่อสอนหรือบรรยายเสร็จแล้ว อย่าลืมขอ Feedback เพื่อนำไปปรับปรุงครั้งหน้า
- สรุป ทำหลักสูตร สอน Digital Marketing ถ้าเตรียมตัวมาดี ก็เริ่มได้เลย
เข้าใจกลุ่มเป้าหมาย ว่าต้องการเรียนรู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับ Digital Marketing
เรียกได้ว่าเป็นปัจจัยแรกที่เราต้องรู้ก่อนที่เราจะทำหลักสูตรขึ้นมา เพราะกลุ่มเป้าหมายนั้นเรียกว่ามีอิทธิพลสำคัญมาที่จะทำให้เราเขียนหลักสูตรเกี่ยวกับอะไรขึ้นมา เช่นถ้าเราได้รับการติดต่อมาจากองค์กร ก็ต้องสอบถามในเบื้องต้นเลยว่า ผู้ฟังเป็นใคร ส่วนมากทำตำแหน่งเกี่ยวกับอะไร และมีจำนวนประมาณกี่คน และต้องการรู้เรื่องใดเป็นพิเศษ ทั้งหมดนี้ก็จะทำให้เราสามารถพิจารณาคร่าว ๆ ได้แล้วว่า เราควรจะทำหลักสูตรอะไรของ Digital Marketing เพื่อให้เสิร์ฟคนเหล่านี้
แต่ถ้ากลับกันสำหรับเอเจนซี่ใด หรือฟรีแลนซ์ท่านใด ที่กำลังจะเปิดคอร์สสอน Digital Marketing ก็ต้องพิจารณาจากหลักสูตรที่เราจะเปิดสอนก่อน เช่นถ้าเราจะเปิดสอนคอร์ส Meta Ads สำหรับใช้งานเบื้องต้น แน่นอนว่าคนที่จะมาเรียนก็มักจะเป็นคนที่ไม่ได้เรียนรู้ Meta Ads แบบลงลึกมากก่อน หรือที่เรียกได้ว่าเป็นขั้น Beginners เท่านั้น เราก็จะสามารถจัดเรียงหลักสูตรออกมาได้ โดยเริ่มจากเบื้องต้น เช่นวิธีการอ่านค่า Metrics ต่าง ๆ การใช้เครื่องมืออย่าง Business Manager, Ad Manager รวมไปถึงวิธีการคิดว่าจะเริ่มจัดเรียงแคมเปญอย่างไร การใส่ชื่อแคมเปญ เพราะพวกนี้ต่างเป็นพื้นฐานในเบื้องต้นที่ต้องรู้ก่อนที่จะไปเรื่องของการทำโฆษณาเสียอีก
วางแผนเรื่องเวลาให้เหมาะสมกับเรื่องที่จะสอน
ระยะเวลาก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งของการสอน ถ้าเราได้หลักสูตรจากกลุ่มเป้าหมายที่เราสร้างขึ้นมาแล้ว ก็ต้องมาดูกันว่าหลักสูตรนี้จะใช้ระยะเวลาเท่าไร เหมาะสมแค่ไหน เพราะถ้ายาวไปก็จะน่าเบื่อ หรือถ้าสั้นไปก็จะไม่รู้เรื่องได้ แต่ระยะเวลานั้นก็ขึ้นอยู่กับว่าหลักสูตรนั้นเราจะสอนใครด้วย โดยทาง Digital Break Time เลยแบ่งออกมาให้เห็นภาพง่าย ๆ จากที่ตัวเองได้เคยบรรยายมา เช่น
- คอร์สแบบ Private ที่เรากำหนดเอง
คอร์สแบบนี้มักจะมีผู้เรียนน้อยเช่น 1:1 หรือว่าแบบกลุ่มก็ไม่เกิน 5 คน ก็ขึ้นอยู่กับผู้เรียนมีความคาดหวังในความรู้มากแค่ไหน จากที่ผู้เขียนได้ทำมา คอร์สแบบ Private นี้มักจะคิดค่าตัวเป็นรายชั่วโมง และมีการวางหลักสูตรคร่าว ๆ ว่าจะเรียนจบภายในกี่ชั่วโมง ซึ่งแน่นอนว่าสามารถต่อเวลาได้ หรือถ้าต้องการเรียนรู้เรื่องอื่น ๆ ก็สามารถสอบถามได้ คอร์สแบบ Private จะมีความยืดหยุ่นสูง ไม่ค่อยได้กำหนดเวลาตามตัวเท่าไรนัก อย่างที่บอกไปว่ามักจะมีการแจ้งกรอบเวลาคร่าว ๆ เท่านั้น - คอร์สแบบที่มีคนจำนวนมากขึ้นราว 20-30 คน
คอร์สแบบนี้เรียกได้ว่าเห็นในการบรรยายในการเรียนแบบทั่ว ๆ ไป พอมีคนมากขึ้น เราก็ต้องแม่นเรื่องระยะเวลา เช่นเป็นหลักสูตรระยะสั้น ก็อาจจะต้องเรียนจบภายใน 2 วัน เสาร์และอาทิตย์ได้ยิ่งดี เพราะยิ่งมีคนมาก ระยะเวลาเป็นสิ่งสำคัญ และในรายละเอียดของแต่ละวันต้องลง Break Down ออกมาเลยว่าเวลาไหนถึงเวลาไหนควรจะสอนอะไร เวลาไหนเป็นการพัก ซึ่งแนะนำว่าการชัดเจนเรื่องของเวลาก็จะเป็นการช่วยให้หลักสูตรของเราออกมาตามเวลาเช่นกัน ถ้าเนื้อหามากเกินไป ก็อาจต้องตัดให้สั้นและกระชับ แต่ถ้าเนื้อหาสั้นเกินไปก็ลองเพิ่มเนื้อหาหรือเพิ่มการ Workshop เข้ามาได้ ได้ลงมือปฏิบัติจริงด้วย โดยปกติแล้วการสอนในระดับคนที่เยอะแบบนี้ มักจะมีเรื่องของค่าเช่าสถานที่และอาหารเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ถ้าเราเป็นคนจัดเตรียมเองก็ต้องระมัดระวังเรื่องของเวลาให้เป็นอย่างดี - การบรรยายแบบที่มีระยะเวลาจำกัด
แบบนี้มักจะเกิดการโดนเชิญให้ไปบรรยายในเรื่องที่เกี่ยวข้อง โดยมักมีระยะเวลาจำกัดเช่น 3-4 ชั่วโมง แต่โดนปกติแล้วก็จะไม่เกิน 8 ชั่วโมง ตรงนี้ก็จำเป็นมากที่จะต้องให้เนื้อหาเหมาะกับเวลาที่เราจะต้องบรรยาย แต่โดยปกติแล้วการบรรยายลักษณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมักจะต้องมีการตรวจสอบเนื้อหาต่าง ๆ ก่อนในเบื้องต้น ว่าที่เราได้ส่งไปนั้นเหมาะกับเวลาหรือไม่ ซึ่งการบรรยายในลักษณะนี้ต้องใช้ทักษะการพูดพอสมควร เพราะเป็นเรื่องของหน้างานด้วยส่วนหนึ่ง
เป็นไปได้อยากให้ทำสไลด์ หรือ Presentation เอง เพื่อให้เข้าใจและพูดง่ายขึ้น
ทำไมถึงบอกให้ทำ Presentation หรือสไลด์เอง เนื่องจากการว่าทำสื่อการสอนแล้ว จะช่วยให้เราเห็นภาพรวมของหลักสูตรได้ว่า เรากำลังจะสอนอะไรให้กับผู้ฟัง การทำสไลด์เองแน่นอนว่าถึงแม้จะใช้เวลา แต่เราก็จะได้ทักษะการค้นหาข้อมูลต่าง ๆ การจดจำที่ดียิ่งขึ้น และทำให้เรารู้ว่าเราจะสอนอะไรในบทต่อ ๆ ไป อีกทั้งยังช่วยเรากำหนดระยะเวลาในการสอนได้อย่างดีเยี่ยมอีกด้วย
ประโยชน์ของการทำสไลด์เองทำให้เราลดการประหม่าเวลาที่จะพูดออกไป เพราะเรารู้เนื้อหาในสไลด์เกือบจะทั้งหมด ซึ่งจะแตกต่างจากการมีคนเตรียมสไลด์ให้ แต่บอกไว้ก่อนว่าถ้ามีคนเตรียมสไลด์ให้ก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร เพียงแต่เราต้องอ่านและทำความเข้าใจก่อน รวมไปถึงถ้ามีส่วนร่วมในการทำสไลด์ เพิ่มข้อมูล ก็จะช่วยให้สไลด์นั้นสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
ลองฝึกพูดเพื่อให้คล่อง และไหลลื่นขึ้น
ก่อนที่จะลงสนามเพื่อที่จะสอนจริง อาจจะลองฝึกพูดกับหน้ากระจกในเบื้องต้นก่อนว่าที่เราพูดหรือสอนเป็นอย่างไร หน้าตา กริยา ท่าทาง ส่วนวิธีการพูดการออกเสียงก็ต้องให้คนอื่นช่วยสังเกต ลองพูดให้เพื่อฟังว่าเวลาที่เราสอนในเบื้องต้นนั้นฟังรู้เรื่องแค่ไหน อธิบายเป็นอย่างไร ถ้าอธิบายให้คนนอกวงการ Digital Marketing แล้วพอจะเข้าใจได้บ้าง ก็เรียกว่าประสบความสำเร็จในระดับเบื้องต้นแล้ว ทั้งนี้เมื่อเราได้สอนหรือพูดบ่อยขึ้น เราก็จะค่อยๆเก่งขึ้นจากการทำซ้ำนั่นเอง
การสอนไม่ใช่เรื่องที่เราต้องพูดอย่างเดียว แต่การปฏิบัติ และแนวคิดนั้นสำคัญ
การสอนแน่นอนว่าการพูดให้คนฟังเข้าใจเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่ที่สำคัญไม่แพ้กันคือต้องให้ผู้เรียนเข้าใจในเรื่องของแนวคิดด้วย แนวคิดของการทำ Digital Marketing นั้นเป็นสิ่งที่จะช่วยสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง เมื่อเราทำหลักสูตรต้องคิดเรื่องของแนวคิดด้วยว่าเราทำ Digital Marketing ไปทำไม และธุรกิจแบบไหนนำปรับใช้เครื่องมือไหนได้บ้าง ซึ่งแนวคิดนี้จะมีประโยชน์มากจากผู้มีประสบการณ์ แล้วมาตกผลึกเป็นแนวคิด จะช่วยให้ผู้เรียนย่นระยะเวลาได้มากพอสมควรในการทำความเข้าใจ
ส่วนเรื่องของการปฏิบัตินั้น แนะนำว่าให้มี Workshop ในการทำจริง ไม่ว่าจะเป็นการใช้เครื่องมือต่าง ๆ หรือให้เป็นโจทย์ง่าย ๆ เช่นถ้าเรามีธุรกิจหนึ่ง มีงบเท่านี้ เราจะทำโฆษณาแบบไหน ใช้เงินเท่าไร ทั้งหมดนี้เรียกว่าเป็นการปฏิบัติในเบื้องต้น จะช่วยให้ผู้เรียนได้ใช้ทักษะจากสิ่งที่เรียกมา นำมาใช้งานได้จริง
เมื่อสอนหรือบรรยายเสร็จแล้ว อย่าลืมขอ Feedback เพื่อนำไปปรับปรุงครั้งหน้า
การน้อมรับ Feedback ข้อเสนอแนะ และนำไปปรับปรุง พัฒนาจะช่วยให้เราเติบโตขึ้น ช่วยให้งานสอนในครั้งต่อ ๆ ไปนั้นดีขึ้น ดังนั้นอย่าลืมขอ Feedback จากผู้เรียน ถ้าเป็นกลุ่มใหญ่หน่อยก็อาจจะมีระบบการประเมินง่าย ๆ อย่าง Google Form หรือถ้าเป็นการสอนแบบ Private ก็สามารถสอบถามกันตรง ๆ ได้เลย ว่าที่เรียนมาแล้วรู้สึกเป็นอย่างไร เรียนแล้วได้รับความรู้เพิ่มขึ้นแค่ไหน นำไปใช้กับอะไรได้บ้าง รวมไปถึงจุดที่เราควรจะต้องปรับปรุงหรือเพิ่มเติม สิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้จะช่วยให้เราเก่งขึ้น
สรุป ทำหลักสูตร สอน Digital Marketing ถ้าเตรียมตัวมาดี ก็เริ่มได้เลย
สุดท้ายนี้ ทักษะการทำ Digital Marketing นั้น ไม่ใช่แค่ทักษะในการทำการตลาดออนไลน์เท่านั้น แต่เรายังผสานกับทักษะอื่น ๆ เช่นทักษะการพูด การสอน เพื่อนำมาต่อยอดในอาชีพเพิ่มได้ ที่ต้องการจะพัฒนา ต่อยอดตัวเอง นำมาให้ความรู้กับผู้ที่ต้องการเรียน โดยสามารถเริ่มจากการสอนเล็ก ๆ ก่อน เช่นการสอนแบบตัวต่อตัว ค่อย ๆ ขยายกลุ่มไปใหญ่ขึ้น จนกระทั่งเปิดการเรียนการสอนในคลาสที่ใหญ่ขึ้น และสุดท้ายการรับงานบรรยายต่าง ๆ จะทยอยตามมาในทีหลัง เป็นกำลังใจให้กับคนที่ทำงานสายนี้ทุก ๆ คนครับ
ติดตามเรื่องราว Digital Marketing จาก Digital Break Time ได้ที่
Facebook, X, Line Official Account, Instagram, Spotify, YouTube, Apple Podcast
ธนาคาร เลิศสุดวิชัย x Digital Break Time